xs
xsm
sm
md
lg

WAVE ลุยธุรกิจใบรับรองพลังงานหมุนเวียน มั่นใจปีนี้รายได้เติบโตสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล เดินหน้าลุยธุรกิจใบรับรองพลังงานหมุนเวียน และขยายพื้นที่โครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ตั้งเป้า 2 ปี 2 แสนไร่ หลังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ได้รับเงินรวม 314 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้สิทธิเกินจำนวน 1,133 ล้านหุ้น เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ ดันรายได้ปีนี้เติบโตสูง
 
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเซียล จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 ให้บริษัทออกเสนอขายและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Offering) ไม่เกิน 2,303 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.14 บาทนั้น บริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ โดยได้รับเงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ รวม 314 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจจองเกินสิทธิมาเป็นจำนวนมากถึง 1,133 ล้านหุ้น รวมถึงให้ความสนใจในใบสำคัญแสดงสิทธิ (WAVE-W4) อีกด้วย
 
"ความสำเร็จในการเพิ่มทุนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินตามแผนธุรกิจของบริษัทที่ได้วางเป้าหมายไว้ ที่จะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจด้านใบรับรองพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเป็นผู้นำในธุรกิจคาร์บอนเครดิตครบวงจร และการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอันเป็นเป้าหมายระดับชาติและผลักดันให้เอกชนไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก" นายเจมส์ กล่าว
 
โดยบริษัทมีแผนการใช้เงินเพิ่มทุน เพื่อขยายธุรกิจและการดำเนินโครงการใหม่ เช่น ศึกษาเรื่องการออกโทเคน เพื่อสนับสนุนบริษัทไทยในการจัดหาและเข้าถึงใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) รวมทั้งขยายโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ให้ถึง 200,000 ไร่ และการศึกษาโครงการอื่นๆ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต เพื่อชดเชยและขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
 
ประเทศไทยได้มีการประกาศเป้าในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2608 พร้อมกำหนดเป้าหมายตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap) ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 30-40% จากกรณีดำเนินการตามปกติ โดยการคำนวณคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจะอยู่ที่ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) หากจะลดลงร้อยละ 30-40% นั้นจะต้องลดลงอย่างน้อย 166-222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้มีการรับรองคาร์บอนเครดิตมาตรฐาน TVER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพียง 18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนใบรับรองพลังงานหมุนเวียนเพียง 19 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (เท่ากับประมาณ 9.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ซึ่งอยู่ในปริมาณที่ยังน้อยและมีความเสี่ยงด้านการขาดคาร์บอนเครดิตที่เพียงพอในการชดเชย
 
สำหรับบริษัทที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ทำการซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) จึงเป็นทางเลือกที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับบริษัทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า
 
บริษัทเวฟ บีซีจี ยังได้นำร่องโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง บนพื้นที่ 20 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีผลลัพธ์ในทิศทางที่ดี สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของประเทศและตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันได้ขยายผลไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี บนพื้นที่ถึง 5,000 ไร่ และตั้งเป้าหมายอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายพื้นที่ให้ถึง 200,000 ไร่ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมผลผลิตและมูลค่าข้าวที่สูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรในประเทศมีทางลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการลงทุนในโครงการ และสนับสนุนให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในที่สุด
 
“บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ในด้านใบรับรองพลังงานหมุนเวียนและเพื่อขยายโครงการด้านการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อคาร์บอนเครดิตสามารถนำมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจในกลุ่ม WAVE โดยปี 2567 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโตมากยิ่งขึ้นจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยได้ปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องและทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการที่เติบโตเพิ่มขึ้นตามลำดับ” นายเจมส์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น