xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำจ่อหลุด 4 หมื่นบาท หลังจีนหยุดซื้อสะสมเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทองคำร่วงหนัก หลังพบจีนหยุดซื้อสะสมครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หนำซ้ำตัวเลขจ้างนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯออกมาดีเกินคาด กดดันดอลลาร์กลับมาแข็งค่า จนทองคำในประเทศมีโอกาสหลุด 40,000 บาท แต่ภาพรวมหลายปัจจัยยังหนุนราคาขยับขึ้นอีกในระยะยาว กูรูแนะหาจังหวะเข้าเก็บ

จากสถิติสูงสุดของราคาทองคำที่ทำไว้ในเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยระดับ 2,450 เหรียญต่อออนซ์ แต่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา หากใครถือครองทองคำอยู่ไม่ว่ารูปแบบใด และไม่ได้ปล่อยขายทำกำไร เชื่อว่าน่าจะเจ็บปวดมิใช่น้อยเมื่อราคาทองคำในวันดังกล่าวหลอกตาด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้า แล้วทิ้งตัวลงหนักตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงช่วงกลางคืน จนราคาทองค่ำร่วงลงจากระดับ 2,387 เหรียญต่อออนซ์ มาอยู่ที่ 2,287 เหรียญต่อออนซ์ ก่อนจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยปิดที่ระดับ 2,293.59 เหรียญต่อออนซ์

แบงก์ชาติจีนหยุดตุนทองคำเพิ่ม

ข้อมูลจากสื่อต่างประเทศรายงานว่า สาเหตุที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงหนักเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. นั้นมาจากธนาคารกลางจีน(PBOC) ได้ระงับการซื้อทองเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือนพ.ค. หลังจากที่ได้ซื้อติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน จนส่งผลต่อราคาทองสปอตพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทองคำได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และเมื่อมีการายงานข่าวดังกล่าวออกมา ก็ส่งให้เกิดแรงเทขายในทองคำจนราคาร่วงลงมาถึง 1.5%

ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า จีนได้ถือครองทองจำนวน 72.80 ล้านทรอยออนซ์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นเดือนเม.ย. ขณะที่มูลค่าทองคำสำรองของจีน ณ สิ้นเดือนพ.ค.พุ่งสู่ระดับ 1.7096 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6796 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจาก ความต้องการซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองมากที่สุดในปี 2566 โดยซื้อสุทธิ 7.23 ล้านออนซ์ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดภายในปีเดียวนับตั้งแต่ปี 2520

โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 ทองคำทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นั้นมีแรงหนุนจากการเข้าซื้อของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความต้องการทองคำแท่งของธนาคารกลางจีนที่พยายามเพิ่มทุนสำรองและป้องกันการอ่อนค่าของเงินหยวน

ทองคำในประเทศอั้นไม่อยู่ลดตาม

และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศเช่นกัน โดยในวันที่ 7 มิ.ย. 67 สมาคมค้าทองคำมีการประกาศปรับราคาซื้อขายทองคำในประเทศถึง 18 รอบในวันเดียว จากราคาขายทองคำแท่งที่ขยับขึ้นในช่วงเปิดตลาด 40,800 บาท เป็น 41,000 บาท แต่จากนั้นราคาเริ่มขยับตัวลงต่อเนื่องจนปิดตลาดราคาขายทองคำแท่งอยู่ที่ 40,450 บาท และราคาขายทองคำรูปพรรณอยู่ที่ 40,950 บาท

สำหรับ ราคาซื้อขายทองคำในประเทศวันที่ 9 มิ.ย.67 สมาคมค้าทองคำ ประกาศปรับลดราคาลงอีก โดยทองคำแท่ง 96.50% ราคาขาย 40,150 บาท รับซื้อ 40,050 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณ ขาย 40,650 บาท รับซื้อ 39,325 บาท

โดยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ระหว่างราคาทองคำปรับตัวลดลง นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ให้เหตุผลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับธนาคารกลางจีนได้หยุดซื้อทองคำจริงหรือไม่ แต่การที่ทองคำปรับตัวขึ้นช่วงเปิดตลาดตอนเช้าวานนี้ มาจากปัจจัยที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อค่าเงินบาท นอกจากนั้น ก็ยังไม่เห็นปัจจัยอื่น ดังนั้น นักลงทุนต้องตรวจสอบข่าวต่าง ๆ ให้ดีด้วย เพราะบางข่าวก็จะมีผลกระทบต่อราคา

อย่างไรก็ตามข้อมูลของสภาทองคำโลกระบุว่า การเข้าซื้อทองคำโดยธนาคารกลางทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด ซึ่งปริมาณทองคำที่แบงก์ชาติจีนถือครองนั้นอยู่ที่ 72.8 ล้านออนซ์ในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นจากระดับ 62.64 ล้านออนซ์ ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนที่จีนจะเข้าซื้อต่อเนื่อง

ทองคำยังถูกปัจจัยอื่นกดดัน

เช่นเดียวกับราคาทองคำโลก เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดวันศุกร์ (7มิ.ย.) ร่วงลงอย่างหนัก 79.70 เหรียญต่อออนซ์ หลังมีข่าวว่า ธนาคารกลางจีนได้ระงับการซื้อทองเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือนพ.ค. โดยราคาทองฟิวเจอร์ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 79.70 ดอลล์ หรือ 3.33% ปิดที่ 2,311.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ขณะเดียวกันราคาทองคำ ยังได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ รวมถึงราคาทองคำ ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานดังกล่าว

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 182,000 ตำแหน่ง

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG)
“เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจะลดความน่าสนใจของทองคำ ทำให้สัญญาทองคำนั้นราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การปรับตัวตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ทำให้ตอนนี้ราคาในประเทศก็มีโอกาสขยับลงไปต่ำกว่า 40,000 บาทได้เช่นกัน” แหล่งข่าวแสดงความเห็น 

ทองคำโลกขุดได้อีกแค่ 19ปี

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในช่วงของการพักฐานระยะสั้น หลังจากที่ปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง นับจากต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 4 มิ.ย. ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแล้ว 13.22% สู่ระดับ 2,335 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ 

ขณะที่ทองคำในประเทศ 96.5% ปรับตัวขึ้นมากถึง 20.21% สู่ระดับ 40,450 บาทต่อบาททองคำ รับปัจจัยเสริมจากทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่า โดยจากการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากจึงเริ่มมีการขายทำกำไรและส่งผลให้เกิดการพักฐานระยะสั้น

อย่างไรก็ดีในระยะยาวภาพรวมของแนวโน้มราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งจากปัจจัยบวกด้านความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานของทองคำเองก็ส่งผลให้เกิดแรงหนุนต่อการปรับตัวขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

เนื่องจากปริมาณทองคำทั่วโลกที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่าเหลืออยู่ปริมาณ 59,000 ตัน ซึ่งหากเทียบจากปริมาณการขุดทองคำเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัน จะเท่ากับเหลือทองคำให้ขุดได้อีกเพียง 19 ปี หากไม่มีการสำรวจพบสายแร่ทองคำใหม่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่ปริมาณทองคำรีไซเคิลที่นำกลับมาหมุนเวียนหลอมใหม่นั้นพบว่ามีเพียงปีละ 1,000 ตันเท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการทองคำทั่วโลกที่สูงกว่า 4,000 ตันต่อปี จึงสะท้อนว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อถือครองในระยะยาว มีเพียง 25% ที่ถูกนำออกมาขายกลับเข้าสู่ตลาด

ดังนั้น  ปัจจัยเหล่านี้จึงยังคงสนับสนุนทิศทางขาขึ้นในระยะยาวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาลง ก็จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อการแบกรับต้นทุนในภาคธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาทองคำจะเป็นขาขึ้นในระยะยาว แต่เมื่อมีการพักฐานในระยะสั้นนั้นก็ถือเป็นโอกาสในการเล่นรอบเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากในระยะหลังราคาทองคำมีการแกว่งตัวขึ้นลงภายในวันได้มากถึง 2-3% 

นักลงทุนจึงสามารถใช้จังหวะนี้เข้าเก็งกำไรระหว่างวันได้ ซึ่งการจะลงทุนแบบเก็งกำไรนั้น จะต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจประกอบการลงทุน เช่น การประกาศตัวเลขในภาคผลิตและบริการ อัตราเงินเฟ้อ และตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ รวมไปถึงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางใหญ่ๆ เป็นต้น

โดยทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะยาว มองว่าเป็นแกว่งตัวในแนวโน้มทิศทางค่อยๆ ปรับตัวขึ้น (Sideway up) และเมื่อการพักตัวในระยะสั้นจบลง มองว่ามีโอกาสกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านหลัก 2,450-2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และหากผ่านได้จะไปทดสอบเป้าหมายถัดไปที่ระดับ 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์

ส่วนระยะสั้นแนะนำพิจารณาเข้าซื้อหากราคาเคลื่อนไหวยืนเหนือแนวรับบริเวณ 2,300-2,277 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ (2,277 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เป็นระดับต่ำสุดของเดือนพ.ค.) ทั้งนี้ในภาพใหญ่หากราคาไม่หลุดแนวรับสำคัญโซน 2,228 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือนเม.ย. ภาพราคาทองคำในระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

ค่าเงินบาททำสถิติแข็งค่า

ไม่เพียงเฉพาะราคาทองคำเท่านั้น ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-7มิ.ย.)แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ 

โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ของสหรัฐ ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 8.06 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. (ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี)

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงบางส่วนช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลและ ธปท. แต่ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งเนื่องจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ตลาดคาด จำกัดกรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ ไว้

ทำให้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะลดช่วงบวกลงตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชันเพื่อรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (11-12 มิ.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. (12 มิ.ย.) และ BOJ (13-14 มิ.ย.)

สำหรับในวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.51บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ36.79 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 พ.ค. 67) ส่วนสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,045 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 2,415ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3,028 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 613 ล้านบาท)

ทำให้ประเมินว่าสัปดาห์นี้ (10-14 มิ.ย.) กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-36.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ผลการประชุมนโยบายการเงินตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ และ dot plot ของเฟด (11-12 มิ.ย.) ผลการประชุม กนง. และสัญญาณดอกเบี้ยของไทย (12 มิ.ย.) และผลการประชุม BOJ (13-14 มิ.ย.) ตลอดจนทิศทางเงินทุนต่างชาติ 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค. ของจีนและสหรัฐ รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. ของสหรัฐ

ดอกเบี้ยทิศทางขาลงแต่ต้องรอไปก่อน

แหล่งข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็นต่อทิศทางราคาทองคำว่า ทิศทางการลดดอกเบี้ย มีความหวังจะเข้าสู่ช่วงขาลง เมื่อสหภาพยุโรปออกมาประกาศลดดอกเบี้ยแล้ว 0.25 % และสิ่งที่ช่วยกระตุ้น เช่นตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ กลับมาชะลอตัวลง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มแผ่วลงจากมาตรการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด ส่งผลให้เกิดความหวังว่า ทิศทางดอกเบี้ยจะลดลง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อล่าสุดตัวเลขการจ้างานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นเหนือกว่าที่คาดการณ์ ย่อมทำให้ท่าทีของธนาคารกลางอย่างเฟดเกิดความกังวล และนั่นจะทำให้การส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยอาจต้องรอต่อไป และการที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหัฐ ไม่มีท่าทีลดอัตราดอกเบี้ย และประเทศจีนหยุดการซื้อทองคำเข้ามาสะสม นั่นย่อมทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง เพราะไม่มีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆออกมา

แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามต่อจากนี้ แหล่งงข่าวมองว่า น้ำหนักอยู่ที่การลดระดับหนี้สาธารณะ เพราะหลายประเทศมหาอำนาจเริ่มพูดถึงเรื่องดัวงกล่าวแล้ว โดยเฉพาะวิธีการถือครองทรัพย์สินต่างประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่จะนำมาแปลงเป็นสภาพคล่องเพื่อหักล้างกับหนี้ที่มีอยู่ ขณะที่ในยประเทศไทย ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว ท่มกลางราคาสินค้า และราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง นั่นย่อมทำให้ความความต้องการให้เกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ยังเป็นไปได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น