xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.41 แกว่งตัว sideways รอข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และ 36.25-36.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการแถลงของประธาน ECB แต่โดยรวมเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.55 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลัง ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องตามที่ตลาดคาดหวังไว้ แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ ECB จะลดดอกเบี้ยลง -25bps ตามที่ตลาดคาดไว้ก็ตาม ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings)

ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะถัดไป

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนพฤษภาคม ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่ (เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงขึ้นแตะระดับ 1.5%)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.35-36.55 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ได้ โดยเราประเมินว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าหลุดแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอยู่แถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้าอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในโซนต่ำกว่า 36.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ อย่างเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อเงินเยน (JPYTHB) ในช่วงนี้ได้ และนอกเหนือจากโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว เราคาดว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะมั่นใจในแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือความวุ่นวายของการเมืองในประเทศไทยจะคลี่คลายลงมากขึ้น ทำให้เงินบาทเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะขายสุทธิสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี เราพบว่า เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงได้กว่า 0.33% หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่างยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาสูงกว่าคาด ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด อาจหนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นกว่า 0.37% ได้ สะท้อนว่าตลาดการเงินอาจอ่อนไหวกับข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดได้มากกว่าข้อมูลการจ้างงานที่ดีกว่าคาด
กำลังโหลดความคิดเห็น