ส่องทิศทางหุ้นไทย จุดต่ำสุดเดิมอาจแค่สถานีต่อไปและปลายทางอาจเจอจุดต่ำสุดใหม่ หลังมรสุมปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศรุมเร้า กดดันเม็ดเงินนอกไหลออกไม่หยุด ขณะที่เม็ดเงินภายในใกล้แรงยื้อ นักลงทุนหันไปหาเครื่องมือลงทุนอื่นทดแทน คาดมิถุนายนดัชนียังลงต่อ จับตาแผนให้กองทุน LTF กลับมาได้สิทธิประโยชน์ภาษีจะกระตุ้นการฟื้นตัวได้กี่มากน้อย
เมื่อไหลลงไม่ยอมหยุดขนาดนี้ คงไม่น่าแปลกใจถ้านักวิเคราะห์หลายสำนักจะประเมินว่า ดัชนีหลักทรัพย์ (Set Index) จะมีโอกาสรูดลงไปถึงจุดต่ำสุดเดิมแถว 1,332 จุด เมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 โดยหากเปรียบเทียบกับล่าสุด วันที่ 31 พ.ค.67 ซี่งดัชนีปิดที่ระดับ 1,345.66 จุด แล้วพบว่ามีช่องว่างที่ห่างจากจุดต่ำสุดเดิมประมาณ 13 จุด ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า หากยังไร้ปัจจัยใหม่ๆ หรือข่าวดีมากระตุ้นตลาด มีความเป็นไปสูงที่ Set Index จะกลับไปจุดเดิมในช่วงเดือน เม.ย.67
รวมถึงยังมีโอกาสที่จะสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 3 ปี (2565-2567) ซึ่งมองไม่เห็นเลยว่า โอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะฟื้นตัวกลับไปท้าทายที่ระดับ 1,700 จุด อีกครั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ นั่นเพราะเมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของ Set Index ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่าดัชนีหลักทรัพย์ฯเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงอย่างชัดเจน โดยปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 355 จุด หรือกว่า 26%
เช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 จากระดับ 7.12 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และลดลงมาเหลือ 4.36 หมื่นล้านบาทในเดือน พ.ค.2567
รวมถึงมูลค่าซื้อขายสุทธิสะสมในเดือน พ.ค.67 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1.67 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 7.51 พันล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5.87 พันล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 3.35 พันล้านบาท
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี พบว่ามีเพียงนักลงทุนทั่วไปที่ซื้อสุทธิ 8.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฝั่งขายนำโดยนักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิสะสม 8.21 หมื่นล้านบาท บัญชี บล.ขายสุทธิสะสม 1.59 พันล้านบาท และสถาบันในประเทศขายสุทธิสะสม 284.92 ล้านบาท
ปัจจัยภายใน-นอกรุมเร้า
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า สาเหตุที่ดัชนีหลักทรัพย์ฯ กำลังถดถอยอย่างต่อเนื่งในช่วงเวลานี้ เนื่องจากถูกปัจจัยลบทั้งจากภายนอกและภายในพุ่งกระทบ โดยเฉพาะดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำตลาดหุ้นทั่วโลกรูดลงแรง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวอย่างไร้ทิศทาง ไม่เพียงเท่านี้นักลงทุนกังวลผลกระทบจากปัญหาสงครามที่อาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่วนความหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยยังต้องรอคอยอย่างเลื่อนลอย สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลายตัว
สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ ภาพรวมมีแต่ข่าวร้าย ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มไม่นิ่ง ทั้งกรณีอัยการสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร หรือชะตากรรมของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังศาลรับคำร้องของ 40 ส.ว.ที่ยื่นถอดถอนนายกฯ และเศรษฐกิจในประเทศก็ตกต่ำซบเซาสุดขีด ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เป้าหมายถูกหั่นลงมา แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวก็ตาม นั่นทำให้ไม่มีข่าวดีทั้งจากภายนอกและภายในที่จะปลุกตลาดหุ้นให้ฟื้น มีแต่ข่าวร้ายที่กระหน่ำใส่ไม่จบสิ้น
โดยสิ่งที่ช่วยยืนยันในเรื่องดังกล่าว เห็นได้ชัดจากนักลงทุนต่างชาติซึ่งถล่มขายหุ้นทิ้ง หอบเงินกลับบ้าน ซ้ำเติมตลาดหุ้นให้ทรุดหนักและผู้ที่รับเคราะห์ขาดทุนย่อยยับคือ นักลงทุนรายย่อยในประเทศซึ่งแบกหุ้นไว้เกือบ 6 แสนล้านบาท ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา จนแทบจะกล่าวได้ว่า “รายย่อย” คือผู้เก็บสะสมหุ้นต้นทุนสูงไว้เต็มพอร์ต
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากปี 2561 นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นสุทธิ 120,800 ล้านบาท ปี 2562 ขายหุ้น 21,466 ล้านบาท ปี 2563 ซื้อหุ้น 214,425 ล้านบาท ปี 2564 ซื้อหุ้น 111,430 ล้านบาท ปี 2565 ขายหุ้น 39,033 ล้านบาท ปี 2566 ซื้อหุ้น 120,860 ล้านบาท และปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม นักลงทุนรายย่อยช้อนซื้อหุ้นสะสมไปแล้ว 76,688 ล้านบาทรวมทั้งสิ้นซื้อสะสม 583,704 ล้านบาท
ปัจจุบันไม่มีช่องว่างเก็บเกี่ยวกำไร
โดย ณ เวลานี้ สภาพตลาดหุ้นไทยยิ่งซื้อก็ยิ่งขาดทุน เพราะราคาหุ้นปักหัวลงตลอด และไม่มีสัญญาณการดีดตัวขึ้นในระยะสั้น นำไปสู่คำถามว่า นักลงทุนรายย่อยจะยืนหยัดสู้กับต่างชาติได้อีกยาวนานขนาดไหน จะเอาเงินที่ไหนมาสู้กับต่างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มจะเทขายหุ้นต่อไป ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นปัจจุบันไม่เป็นใจหรือเข้าข้างนักลงทุนรายย่อย เพราะดัชนีปักหัวลงลูกเดียว ราคาหุ้นลดต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้น การขนเงินเข้าไปช้อนหุ้นจึงเป็นความเสี่ยงในความสูญเสีย รายย่อยสู้ต่อมีโอกาสเจ็บหนักมากขึ้น และไม่รู้ว่าวันที่รอคอยจะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่
ปัจจุบันนี้เป้าหมายดัชนีหุ้นซึ่งถูกปรับลดลงมา แต่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังมองโลกในแง่ดี ประเมินว่าปลายปีนี้ดัชนีจะพุ่งไปแตะที่ระดับ 1,500 จุด แต่สถานการณ์ตลาดหุ้นที่เป็นจริง และนักลงทุนกำลังเผชิญหน้ากันอยู่คือ บรรยากาศการซื้อขายหุ้นที่เงียบเหงาซบเซา ไม่มีช่องว่างการเก็บเกี่ยวกำไรจากการลงทุน
แม้ตลาดหลักทรัพย์พยายามเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยผลักดันมาตรการกำกับการซื้อขายที่เข้มงวดขึ้น ป้องกันการปั่นราคาหุ้น เพื่อปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับความเสียหายจากราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ไม่อาจกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ เพราะเป็นมาตรการที่ไม่ถูกโรคของตลาดหุ้นในขณะนี้
ขณะที่ตลาดหุ้นต้องการเม็ดเงินก้อนใหม่เข้ามา ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติหวนกลับมาซื้อ ไม่ใช่ปักหลักขายเหมือนหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีการประเมินว่าถ้าไม่มียาแรงๆ ปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะฟุบต่อไปจนถึงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ตลาดหุ้นจะแปลงสภาพกลายเป็นป่าช้า บริษัทจดทะเบียนจำนวนทั้งหมดประมาณ 900 บริษัท จะกลายเป็นซากกองอยู่ตามกระดานหุ้น เพราะนักลงทุนรายย่อยกำลังล้มหายตายจาก ลดจำนวนลงเรื่อยๆ เพราะเมื่อลงทุนแล้วขาดทุนจะทยอยล่าถอยออกจากตลาดหุ้น ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นน้อยมาก
ตลาดหุ้นกำลังตกอยู่ในภาวะมืดมน น่าวังเวง และไม่มีกูรูหุ้นคนใดให้เหตุผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่า ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นสู่ความคึกคัก ด้วยปัจจัยสนับสนุนอะไร นั่นทำให้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มซึมยาว และไม่มีสัญญาณข่าวดีที่จะกระตุ้นและพลิกตัวกลับสู่ขาขึ้น
คาด มิ.ย.หุ้นไทยยังขาลงต่อ
“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือน มิ.ย.67 คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยในประเทศจากความเสี่ยงเรื่องความต่อเนื่องนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากมีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
อย่างไรก็ตาม โครงการสำคัญๆ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมองว่ายังดำเนินการอยู่ไม่ว่านายกฯ จะเป็นใคร โดยสภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังทั้งการเร่งเบิกจ่ายไตรมาส 3/67 หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งหมดจะเป็นแรงส่งที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่บรรยากาศในตลาดหุ้นโลกที่ถูกทำกำไรออกมาหลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.66 ประกอบกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกระยะสั้นมีแนวโน้มที่แตกต่างกัน เช่นธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะประชุม 6 มิ.ย.67 คาดว่าอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่งลักษณะนี้จะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อ กดดันสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ดี มองว่าเป็นการปรับลงในรอบท้ายๆ และน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการเข้าซื้อในรอบ 12 เดือนข้างหน้า โดยประเมินแนวรับที่ 1,300 จุด แนวต้าน 1,365 จุด
ทั้งนี้ แนะนำหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในกลุ่มส่งออกอาหาร แต่ระยะสั้นให้ระวังการขายทำกำไรในกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมองหุ้นดังกล่าวดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ ก.พ.67 ซึ่งอาจมีแรงขายทำกำไร ดังนั้น ควรรอจังหวะดังกล่าวผ่านไปก่อนค่อยเข้าซื้อเก็งกำไร เช่น TU
นอกจากนั้น มีกลุ่มค้าปลีกรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ภาพการบริโภคครึ่งปีหลังดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เช่น CPALL OSP CPAXT กลุ่มผลการดำเนินงานมีโอกาสฟื้นตัว ต้นทุนลดลง เช่น SCGP SORKON BBGI
ด้าน “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือน มิ.ย.มีปัจจัยที่ต้องติดตาม 2-3 เรื่อง คือการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ โอกาสลดดอกเบี้ยของเฟดมีความไม่แน่นอนสูง (กลับไป กลับมา) การเก็งผลประกอบการไตรมาส 2/67 และสถานการณ์การเมืองในประเทศดูอึมครึม ทั้งในเรื่อง 40 ส.ว. ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และเรื่องอดีตนายกฯ ถูกฟ้องเรื่อง ม.112 ซึ่งปกติเดือน มิ.ย.ตลาดหุ้นจะไม่ค่อยมีประเด็นอะไร แต่ปีนี้มีประเด็นหลายเรื่องเชื่อว่าตลาดหุ้นจะผันผวนแน่นอน
ขณะที่ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนแม้จะดี แต่ก็ดีเป็นบางกลุ่ม ตลาดน่าจะเล่นขาลง ให้กรอบดัชนี 1,350-1,410 จุด ยังไม่น่าจะผ่านไปได้ สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ตลาดเล่นขาลง การซื้อเพื่อถืออาจใช้ไม่ได้ผล
ดังนั้น การลงทุนเดือน มิ.ย.ต้องจับรอบสั้น โดยเลือกจากตัวที่มีปัจจัยบวกสนับสนุน หรือเล่นตาม Theme ตามข่าวรายวัน เล่นสั้นตามรอบ หุ้นเด่นแนะนำ CPALL ITC และ KTB
รายย่อยเปลี่ยนแนวเลือกลงทุนอื่น
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยลบภายนอก และภายในประเทศที่กดดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในทิศทางขาลง หลายฝ่ายเชื่อว่า ไม่เพียงแค่แรงจูงใจในการลงทุนที่หายไป แต่ความสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนก็ลดลงไปด้วย โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ส่วนมากเลือกที่จะลงทุนในเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นมากกว่า เนื่องจากมองว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นไทยในเวลานี้ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
“คริปโตฯ อัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเรื่องใหม่ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้นกว่าลงทุนในหุ้น แม้จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า นั่นทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด และเมื่อรวมกับเม็ดเงินจำนวนมากที่รายย่อยเข้ามาช้อนเก็บหุ้นไป ยิ่งทำให้เหลือเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดอย่างจำกัด ขณะที่บรรดา บลจ.ในปัจจุบันก็ออกโปรดักต์ที่หันไปหาการลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ดังนั้นเมื่อมีเม็ดเงินไหลเข้ามาน้อย สวนทางกับต่างชาติที่มีแต่เทออกไป การถดถอยย่อมเกิดขึ้น”
ฟื้นแผนให้สิทธิประโยชน์ LTF
ล่าสุดมีรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) นัดหารือถึงหลักเกณฑ์ในการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยหวังว่าการนำกองทุนหุ้น LTF กลับมาพิจารณาใหม่รอบนี้เป็นการช่วยกระตุ้นภาคการออมเงินให้กลับมาเติบโตมากขึ้น และช่วยกระตุ้นตลาดทุนไทยด้วย หลังจากปี 2562 การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF สิ้นสุดลง พบว่า มีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ยอดเงินคงค้างที่อยู่ในกองทุนจากเดิมที่ระดับ 4 แสนล้านบาท เหลือเพียง 2.47 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่าหาก LTF ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกครั้ง น่าจะทำให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากองทุน LTF จะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ทำให้สภาพคล่องการซื้อขายดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหุ้นในกลุ่ม Set 100 ที่จะได้รับประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว นั่นเพราะมีสภาพคล่องการซื้อขายสูง มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมถึงมีอัตราปันผลในระดับที่น่าพอใจ สามารถถือลงทุนระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังเป็นเพียงคาดการณ์ การลดลงของดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้ แม้แต่กองทุนหุ้น LTF อาจจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินและนักลงทุนกลับมาได้คึกคักเหมือนในอดีต แต่ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อหลายฝ่ายหันมาใส่ใจกับสภาวะตลาดหุ้นไทย ก่อนที่จะสายเกินไปมากกว่านี้