xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เชื่อเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ในกรอบ 0.6% หลังหลุดกรอบติดลบติดต่อกัน 6 เดือน ทำหนังสือชี้แจง ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 2 รับแรงส่งท่องเที่ยวที่ทยอยกลับมา การบริโภคเอกชนฟื้น การลงทุนและการส่งออกดีขึ้น เงินเฟ้อทยอยกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% หลังจากหลุดกรอบ ขอดูตัวเลขในช่วงเดือนตุลาคมอีกรอบ โดยมั่นใจว่าเดือน พ.ค.เงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้น คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.6% ตามเป้าหมาย หลังติดลบติดต่อกัน 6 เดือน ต้องทำหนังสื่อเปิดผนึกชี้แจงคณะรัฐมนตรี

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.5% ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.8% และมากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้อยู่ที่ 1% ดังนั้น ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดีกว่าที่เราคาด ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ยังต้องดูพัฒนาการเศรษฐกิจต่อไป แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) เพราะตัวเลขหลายๆ ตัวเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ต้องติดตามว่าตัวเลขเหล่านี้จะยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

“โดยรวมเศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ขยายตัว สอดคล้องกับรายรับภาคการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ”

ด้านอัตราเงินเฟ้อทอยอยกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โดยเงินเฟ้อปัจจุบันที่ยังอยู่ในกรอบล่างนั้น ส่วนหนึ่งมาจากด้านอุปทาน ทั้งเรื่องของราคาพลังงานที่ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ประกอบกับสินค้ากลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกรราคาลดลง ดังนั้น เงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา มาจากเหตุผลทางฝั่งอุปทานค่อนข้างมาก แต่ล่าสุด การรายงานอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนเมษายน พบว่าขยายตัวได้ 0.19% เร็วกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้ หลังจากที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องมานานถึง 6 เดือน

“ธปท.ได้ติดตามตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยราคาสินค้าในตะกร้า 300-400 รายการ มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งพบว่าสินค้าโดยรวมยังใกล้เคียงเดิม สะท้อนว่าในแง่ของดีมานด์หรือกำลังซื้อไม่ได้แย่ลง และอีกด้านที่เห็นคือ เงินเฟ้อคาดการณ์ของเอกชน ทั้งจากผู้ผลิตที่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายของ ธปท. ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้ายังเห็นสอดคล้องกันว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยทยอยปรับสูงขึ้น”

โดยทั้งปี 2567 กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.6% ซึ่งช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธปท. และกระทรวงการคลังจะหารือกันเพื่อร่วมกำหนดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) สำหรับปี 2568 ต่อไป จากปัจจุบันที่กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3%

สำหรับการส่งออกของไทยนั้น แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือน เม.ย. จะกลับมาเป็นบวก จากเดือน มี.ค.ที่หดตัวประมาณ 10% แต่หลายสำนักมีการปรับลดตัวเลขส่งออกทั้งปีนี้ลง ซึ่งมุมมองในภาพใหญ่ของ ธปท. ไม่ได้มองว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้สูงอยู่แล้ว โดยคาดว่าทั้งปีการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 2% ถือว่าเป็นระดับกลางถึงต่ำ

“ภาพใหญ่ของการส่งออก ธปท. ไม่ได้มองว่าดีอยู่แล้ว ไม่ได้มองสูง ดังนั้นไม่ได้เซอร์ไพรส์กว่าที่คาด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานด้วย และปัจจัยเรื่องโครงสร้างที่ฉุดรั้งบางอุตสาหกรรม ประมาณการส่งออกของ กนง.อยู่ที่ราว 2% ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนไปทางกลางๆ หรือต่ำ หากเทียบกับตลาด” นายสักกะภพ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น