xs
xsm
sm
md
lg

แมลงเม่าตลาดหุ้น...ถอยไม่ได้-สู้ต่อก็ตาย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นกำลังดำดิ่งสู่หุบเหวลึก ดัชนีปักหัวลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน และหลุดจากแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,350 จุดแล้ว โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าจุดต่ำสุดในรอบนี้อยู่ที่ใด

การซื้อขายหุ้นเมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดัชนีสร้างจุดต่ำสุดในรอบปี ถอยลงมาปิดที่ 1,349.83 จุด ลดลง 12.87 จุด หรือลดลง 0.94% มูลค่าซื้อขาย 44,190 ล้านบาท เนื่องจากถูกปัจจัยลบทั้งจากภายนอกและภายในพุ่งกระทบ

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำตลาดหุ้นทั่วโลกรูดลงแรง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวอย่างไร้ทิศทาง โดยนักลงทุนกังวลผลกระทบจากปัญหาสงครามที่อาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่วนความหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ยยังต้องรอคอยอย่างเลื่อนลอย

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ มีแต่ข่าวร้าย ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มไม่นิ่ง ทั้งกรณีอัยการสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร หรือชะตากรรมของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังศาลรับคำร้องของ 40 ส.ว.ที่ยื่นถอดถอนนายกฯ

และเศรษฐกิจในประเทศก็ตกต่ำซบเซาสุดขีด

ไม่มีข่าวดีทั้งจากภายนอกและภายในที่จะปลุกตลาดหุ้นให้ฟื้น มีแต่ข่าวร้ายที่กระหน่ำใส่ไม่จบสิ้น

นักลงทุนต่างชาติถล่มขายหุ้นทิ้ง หอบเงินกลับบ้าน ซ้ำเติมตลาดหุ้นให้ทรุดหนัก และผู้ที่รับเคราะห์ขาดทุนย่อยยับคือ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ ซึ่งแบกหุ้นไว้เกือบ 6 แสนล้านบาท ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

นักลงทุนรายย่อยสู้รบกับนักลงทุนต่างชาติมาตลอด หุ้นที่ต่างชาติเทขาย รายย่อยจะเป็นผู้แบกรับ โดยเก็บสะสมหุ้นต้นทุนสูงไว้เต็มพอร์ต

ปี 2561 นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นสุทธิ 120,800 ล้านบาท ปี 2562 ขายหุ้น 21,466 ล้านบาท ปี 2563 ซื้อหุ้น 214,425 ล้านบาท ปี 2564 ซื้อหุ้น 111,430 ล้านบาท ปี 2565 ขายหุ้น 39,033 ล้านบาท ปี 2566 ซื้อหุ้น 120,860 ล้านบาท

และปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม นักลงทุนรายย่อยช้อนซื้อหุ้นสะสมไปแล้ว 76,688 ล้านบาท

รวมยอดซื้อหุ้นของนักลงทุนรายย่อยในประเทศช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 583,704 ล้านบาท

ช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลับสู่ช่วงขาลงเต็มตัว ลงจากระดับประมาณ 1,850 จุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จนลงมายืนที่ 1,349 จุด หรือลงมาประมาณ 500 จุด

นักลงทุนรายย่อยที่ช้อนซื้อจึงเป็นการเก็บหุ้นช่วงตลาดขาลง และเกือบทั้งหมดต้องแบกรับผลขาดทุน ขาดทุนมากหรือขาดทุนน้อย ขึ้นอยู่กับต้นทุนนักลงทุนรายย่อยแต่ละคน

แม้จะเจ็บตัวหนัก แต่นักลงทุนรายย่อยในประเทศยังไม่ยอมถอดใจ และปักหลักสู้กับนักลงทุนต่างชาติต่อไป ต่างชาติขายไม่เลิก รายย่อยก็ไม่ถอย เข้าไปช้อนซื้อสวนหมัด

แต่ยิ่งซื้อก็ยิ่งขาดทุน เพราะราคาหุ้นปักหัวลงตลอด และไม่มีสัญญาณการดีดตัวขึ้นในระยะสั้น

คำถามคือ นักลงทุนรายย่อยในประเทศจะยืนหยัดสู้กับต่างชาติได้อีกยาวนานขนาดไหน จะเอาเงินที่ไหนมาสู้กับต่างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มจะเทขายหุ้นต่อไป

สถานการณ์ตลาดหุ้นปัจจุบันไม่เป็นใจหรือเข้าข้างนักลงทุนรายย่อย เพราะดัชนีปักหัวลงลูกเดียว ราคาหุ้นลดต่ำลงเรื่อยๆ

การขนเงินเข้าไปช้อนหุ้นจึงเป็นความเสี่ยงในความสูญเสีย รายย่อยสู้ต่อมีโอกาสเจ็บหนักมากขึ้น และไม่ควรจะสู้ต่อ หรือควรจะยุติการเก็บหุ้นสะสมเข้าพอร์ตเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าจะขายหุ้นทิ้ง นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่คงทำใจยอมรับผลขาดทุน หรือยอมขายขาดทุนไม่ได้

นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นตัวเลขล่าสุดมีจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านคน ตอนนี้ตกอยู่ในฐานะตัวประกันของตลาดหุ้น จะสู้ก็ตาย จะถอยก็ไม่ได้ จึงเฝ้าแต่รอคอยการฟื้นตัวของตลาดหุ้น

แต่ไม่รู้ว่าวันที่นักลงทุนรอคอย วันที่ตลาดหุ้นคืนสู่ความสดใสจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่








กำลังโหลดความคิดเห็น