22 พ.ค. ทุกปี เป็นวันที่ชุมชนคนคริปโต ปักหมุดไว้ในปฏิทิน รำลึกถึงการใช้บิทคอยน์ในรูปเงินคริปโตเพื่อการพาณิชย์ครั้งแรกที่บันทึกสร้างการจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์บล็อกเชน ไม่ใช่แค่ด้วยมูลค่าการซื้อขายสินค้าด้วยเงินคริปโตมากที่สุด แต่เป็นภาพสะท้อนที่ชุมชนคริปโตพยายามขับเคลื่อนจุดยืน "Decentralized Cryptocurrency" หรือ ไร้ศูนย์กลาง โดยที่ไม่มีหน่วยงานกลางหรือบุคคลใดควบคุม แต่ทำงานบนระบบเครือข่ายที่กระจายตัวทั่วโลก (Distributed Ledger) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อทำให้การทำธุรกรรมมีความปลอดภัยและโปร่งใส ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง (Peer-to-Peer) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเช่นธนาคาร
อีกทั้งจุดยืนของการตอกย้ำ "น้ำไม่เข้ากับน้ำมัน" หรือ "การไม่เผาผี" ระหว่างเงินคริปโต และเงินเฟียต (เงินที่ออกโดยรัฐ และควบคุมโดยรัฐ) ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แม้ว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนการเงินทั้ง 2 ฝั่ง พยายามที่จะหาจุดยืนในการพัฒนาร่วมกันใน 2 ระบบ ด้วยการพยายามหาจุดสมดุลระหว่างความเสรีภาพและการควบคุมเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งาน แต่ก็ยังไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขระหว่างกันได้
ย้อนกลับไปที่การซื้อพิซซ่าด้วยบิทคอยน์ครั้งแรก ที่กลายเป็นกระแสข่าว เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ซึ่งถูกเรียกว่า “Bitcoin Pizza Day” โดย Laszlo Hanyecz โปรแกรมเมอร์ชาวฟลอริดา ได้โพสต์ในฟอรั่ม BitcoinTalk โดยเสนอว่า "จะจ่าย 10,000 Bitcoin ให้กับใครก็ตามสามารถหาพิซซ่า 2 ถาดให้เขาได้" ซึ่งเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ Bitcoin ในการซื้อสินค้าจริง ๆ เพื่อสื่อให้เห็นการนำ Bitcoin มาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ต่อมา Jeremy Sturdivant (ที่ใช้นามแฝงว่า "Jercos") ซึ่งเป็นสมาชิกในฟอรั่ม BitcoinTalk เช่นกัน ได้ตอบรับคำขอของ Laszlo Hanyecz โดย Jeremy ได้สั่งพิซซ่าจากร้าน Papa John’s และจัดส่งไปให้ Laszlo โดย Laszlo ได้จ่ายเงินจำนวน 10,000 Bitcoin ให้กับ Jeremy Sturdivant ตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้
ขณะที่ราคาบิทคอยน์ ณ เวลานั้น ( ปี ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ.2553) มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 BTC ประมาณ 0.0025 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือ 0.08 บาทไทย โดยหากคิดราคาพิซซ่า 2 ถาดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยจะอยู่ที่ประมาณ 800 บาท
เนื่องจากนี้ ในปี 2553 บิทคอยน์เพิ่งเกิดขึ้นบนโลกใหม่ๆ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ความผันผวนของราคาและการแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ก็ยังไม่เป็นที่นิยมหรือแพร่หลาย เหมือนในปัจจุบัน และยังไม่มีศูนย์ซื้อขายตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ เช่น บาทไทย ดอลลาร์สหรัฐ หรือสกุลเงินอื่น ๆ
ทั้งนี้ในปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนซื้อขายบิทคอยน์ล่าสุดจากเว็บติดตามเหรียญคริปโต coinmarketcap อยู่ที่ 70,961.26 ดอลลาร์ ต่อ 1 บิทคอยน์ หรือ 2,579,650.61 บาทไทย (โดยเพิ่มขึ้น +6.00% ในรอบ 24 ชั่วโมง) ซึ่งจากประเด็น "บิทคอยน์พิซซ่าเดย์" ทำให้ทั้งคนในชุมชนคริปโต และคนนอกชุมชนคริปโตต่างตั้งคำถามกันว่า Laszlo Hanyecz แท้จริงแล้ว หากไม่นำบิทคอยน์ไปซื้อพิซซ่า 2 ถาดในวันนั้น และถือยาวมาจนถึงวันนี้ จะรวยเป็นมหาเศรษฐีคริปโตไปแล้วเท่าไหร่ และถือบิทคอยน์ (แท้จริงที่ไม่เปิดเผย) อยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ (เนื่องจากข้อมูลกระเป๋าดิจิทัลและการถือครองบิทคอยน์เป็นข้อมูลความลับส่วนบุคคล) และ Jeremy Sturdivant ที่นำพิซซ่า 2 ถาดไปแลกเหรียญคริปโตนั้น หากถือบิทคอยย์ยาวมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ขณะนี้เป็นอย่างไร หรือขายออกไปเมื่อหลายปีก่อนแล้ว........
และเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งหลายคนกล่าวว่า "เป็นราคาพิซซ่าที่แพงที่สุดในโลก (เอาจำนวนบิทคอยน์ 10000 BTC เทียบราคาบิทคอยน์ปัจจุบันที่ประมาณ $70000 ซึ่งคิดเป็นเงินบาทไทย ณ วันที่ 21 พ.ค. 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 25,749 ล้านบาท.....แต่ใครมันจะไปรู้ละ)"
และ "หากรู้อนาคต Laszlo Hanyecz ก็คงเก็บเหรียญบิทคอยน์ไว้ ไม่ขายออกไปแลกกับพิซซ่า"
ขณะที่บางคนมองต่างมุมไปว่า "เพราะอนาคตไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่แน่ว่าอนาคตบิทคอยน์อาจไร้ค่าก็ได้ Laszlo Hanyecz จึงเอาบิทคอยน์ไปแลกกับพิซซ่าในตอนนั้น (ปี พ.ศ.2553) "
นอกจากนี้ยังมีมุมมองชุมชนคริปโตบางคนให้ความเห็นว่า "หากทุกคนรู้ว่าอนาคตวันนี้ ( ปี พ.ศ. 2567) ราคาบิทคอยน์จะมีค่า $60000 - $70000 ทุกคนคงรวยกันไปหมดแล้ว เพราะซื้อบิทคอยน์เก็บกันตั้งแต่ตอนนั้น (ปี พ.ศ.2553)"
อย่างไรก็ตามราคาบิทคอยน์มีความผันผวนสูงเนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากการยอมรับและการใช้งาน การเก็งกำไร ข่าวสารและเหตุการณ์ทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนปริมาณการซื้อขาย และการแทรกแซงจากตลาดการเงินอื่น ๆ ทำให้การคาดการณ์อนาคตราคาบิทคอยน์เป็นเรื่องยากมาก นักลงทุนจึงควรมีความระมัดระวังและทำการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนในบิทคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ