สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 เติบโต 1.5% จากตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 67 ลงเหลือเติบโต 2-3% หรือช่วงกลางของคาดการณ์ที่ 2.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาด และการลงทุนภาครัฐยังหดตัว
*GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ลดลงจาก Q4/66
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาคการผลิตในไตรมาส 1/67 ขยายตัวได้ 1.5% ลดลงจาก 1.7% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากภาคเกษตรลดลง 3.5% ที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน อ้อยและผลไม้ลดลง การผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวได้ 2.0% การผลิตภาคบริการขยายตัว 3.6% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.2% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการลงทุนภาครัฐลดลงถึง 27.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่ลดลง 20.1% ปัจจัยหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 2.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 4.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องมือเครื่องจักร
การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลง 2.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 3% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากความล่าช้าในการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6.9% ต่อเนื่องจาก 7.4% ในไตรมาส 4/66 ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงในรอบ 18 ไตรมาส รวมถึงสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านการส่งออกสินค้าลดลง 2.0% สำหรับสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากเครื่องปรับอากาศ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และคอมพิวเตอร์ เหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งยังส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 58.6 พันล้านบาท