แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่ในบัญชีบริหารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขยายพื้นที่ทางการคลังในการทำนโยบายเพิ่มขึ้น ว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านการแก้นิยาม "หนี้สาธารณะ" ใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เนื่องจากหลักการหนี้ FIDF ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ เพราะปัจจุบัน ธปท.รับชำระทั้งต้นและดอกเบี้ย ซึ่งหากโอนหนี้ FIDF ไปให้ ธปท. จะส่งผลให้หนี้สาธารณะลดลงได้ราว 5.5% ต่อ GDP
โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า ณ สิ้น ก.ย.67 หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 65.03% ซึ่งยังไม่รวมการทำโครงการทำดิจิทัลวอลเล็ต และเพื่อไม่ให้ชนเพดานหนี้สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 70% ต่อ GDP
แหล่งข่าวยังให้ความเห็นว่า การที่หนี้ FIDF มาโชว์อยู่ในหนี้สาธารณะนั้น เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เนื่องจาก ธปท. เป็นหน่วยงานที่ชำระหนี้ ที่ได้เงินจากการเก็บเงินจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนที่ 0.46% และรายได้อื่นๆ ที่มีด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องแก้ไขกฎหมายจะต้องเป็นต้นรื่อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
"หากต้องการโอนหนี้ FIDF เพื่อไม่ให้นับหนี้สาธารณะ ต้องให้หน่วยงานต้นเรื่องคือ ธปท.เป็นผู้แก้ไขกฎหมาย โดยมองว่าการแก้กฎหมายหนี้สาธารณะทำได้ 2 ทาง คือ แก้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งจะต้องใช้เวลาผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎรด้วย และอีกทาง คือ การแก้นิยาม พ.ร.ก. FIDF จะทำได้ง่ายกว่า" แหล่งข่าว ระบุ
ส่วนถ้ามีการโอนหนี้ FIDF ไปให้ ธปท. จะต้องโอนทรัพย์สินทรัพย์ไปให้ ธปท.ด้วยหรือไม่ เช่น หุ้นที่ถือในธนาคารกรุงไทย (KTB) แหล่งข่าวกล่าวว่า หากโอนหนี้สินไปอยู่ภายใต้ FIDF ทั้งหมดก็ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดไปให้ ธปท.ด้วยเช่นกัน
โดยปัจจุบัน หนี้ FIDF ที่เหลืออยู่คิดเป็นวงเงิน 590,869 ล้านบาท (ณ เม.ย.67) จากยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.55 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจากบัญชี FIDF 1 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.55 อยู่ที่ 463,275 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 265,327 ล้านบาท และ FIDF 3 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.55 อยู่ที่ 675,030 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 325,542 ล้านบาท โดยคาดว่าหนี้ FIDF จะหมดภายใน 9 ปี หรือปี 2575 เร็วกว่าแผนที่กำหนด