xs
xsm
sm
md
lg

BCP เติบโตแกร่งทุกธุรกิจ Q3 โดดเด่นหลังปิดซ่อมบำรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บางจาก คอร์ปอเรชั่น” เติบโตในทุกเซกเมนต์ ผลลัพธ์จากการควบรวม “ESSO” เริ่มสร้างแรงกระโดด ทั้งกำลังการผลิต และสถานีให้บริการ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ากลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ส่วนธุรกิจทรัพยากรขยายตัวต่อเนื่อง คาดไตรมาส 2 โรงกลั่นและแหล่งผลิตปิดซ่อมกดดันผลประกอบการทรงตัว และจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

เมื่อเร็วๆ นี้ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2567 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1.35 แสนล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 68% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทำให้คิดเป็น EBITDA รวม 1.53 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 เป็นผลให้ BCP มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2.43 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากไตรมาสก่อน

โดยไตรมาสแรกกลุ่มบริษัทบางจากได้เริ่มรับรู้ Synergy จากผลการดำเนินงานแล้ว 1.5 พันล้านบาท (ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด โลจิสติกส์ และผลประโยชน์ร่วมกันผ่านการสนับสนุนด้านการบริหารงาน) โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำ Synergy เพื่อบรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy (ก่อนหักภาษี) ไม่น้อยกว่า 2.5 พันล้านบาทปีนี้ และไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีในปีต่อๆ ไป โดยคาดจะทำ Single Linear Program (LP) ได้ครึ่งปีหลังปีนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการกลั่นได้ดียิ่งขึ้นอีก

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ได้เริ่มก่อสร้างหน่วยผลิต SAF แห่งแรกในไทย คาดเริ่มผลิต SAF ได้ไตรมาส 2/68 โดยได้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบหลักในการผลิตผ่านโครงการ "ทอดไม่ทิ้ง" การรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว และร่วมมือกับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในการจัดหาน้ำมันปรุงอาหาร ใช้แล้วมาสู่การผลิตและจำหน่าย (UCO-to-SAF)

ส่วนทิศทางธุรกิจในไตรมาส 2 กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องคอยจับตามอง คือค่าการกลั่นที่ลดลงจากการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลก การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นพระโขนง และอุปสงค์ที่ลดลงตามฤดูกาล ซึ่งบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน และจะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ทศวรรษที่ 5 ในปี 2567

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2567 แต่ละกลุ่มธุรกิจของ BCP มีผลดำเนินงานดังนี้ 1.กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4.40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งสร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นน้ำมันรวมกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4/66 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐ

2.กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1.89 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3.54 พันล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นกว่า 100% จากไตรมาสแรกปี 2566

3.กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น 66% ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์ มี EBITDA 284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน จากยอดขายที่สูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ BSRC และ 4.กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA รวม 7.40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากไตรมาสก่อน


ธุรกิจโรงกลั่นโดดเด่น

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นของ BCP ปัจจุบันมีความโดดเด่นมากจากกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 290,000 บาร์เรลต่อวัน แบ่งเป็นโรงกลั่นบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ มีกำลังกลั่นเฉลี่ย 120,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนโรงกลั่นเอสโซ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีกำลังการกลั่นเฉลี่ย 170,000 บาร์เรลต่อวัน

โดยเฉพาะความสามารถในการเพิ่งกำลังการผลิตของโรงกลั่นศรีราชาจากระดับ 119,300 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 150,300 บาร์เรลต่อวันถือเป็นกำลังการผลิตเฉลี่ยรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโรงกลั่นศรีราชา ขณะที่โรงกลั่นพระโขนงยังคงรักษากำลังการกลั่นที่ระดับสูง 121,400 บาร์เรลต่อวัน และยังมีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในอนาคต

สถานีบริการเพิ่มหลังรวบ ESSO

ส่วนธุรกิจค้าปลีก หลังควบรวมกับ ESSO พบว่าจำนวนสถานีบริการน้ำมันของ BCP เพิ่มเกือบเท่าตัวเช่นกัน จากเดิมประมาณ 1,300 แห่ง แต่เมื่อได้สถานีบริการน้ำมันของ ESSO อีก 830 แห่ง รวมเป็น 2,130 แห่ง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยหนุนให้ธุรกิจ non-oil ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟอินทนิล

ขณะเดียวกัน การควบรวมกิจการยังทำให้ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ของ BCP เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขจากกรมธุรกิจพลังงานในเดือน ม.ค.2566 เพิ่มขึ้นเป็น 29.4% จากเดิมทั้ง 2 แบรนด์รวมกันอยู่ที่ 28.5% เพิ่มขึ้น 1% จากเดือน ธ.ค.2566

โดยปีนี้บริษัทจะเร่งปลดป้ายโลโก้แบรนด์ ESSO ในสถานีบริการทั่วประเทศทั้งหมด 830 แห่ง เป็นป้ายโลโก้แบรนด์ “บางจาก” ซึ่งเร็วกว่าสัญญาที่เอ็กซอน โมบิลให้ใช้โลโก้ ESSO ได้ 2 ปีถึงเดือนสิงหาคม 2568 ส่วนการมีสถานีบริการน้ำมัน ESSO เดิม อยู่ใกล้สถานีน้ำมันบางจาก ที่ผ่านมาพบว่าไม่ก่อให้เกิดการแย่งลูกค้าแต่เป็นการช่วยเสริมกัน 

ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยับอย่างยั่งยืน

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผ่าน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) พบว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,025.2 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นที่เปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1,249.9 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 775.3 เมกะวัตต์

ล่าสุด BCPG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 มีรายได้รวม 1.19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 441 ล้านบาท ลดลง 13.90% เนื่องจากในไตรมาส 1/66 มีการบันทึกการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 267 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 114.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 160 ล้านบาท

นั่นเป็นผลมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และเริ่มขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ไตรมาส 3/66 ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทยตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566 รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์จากกำลังลมที่พัดผ่านโครงการเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายไฟฟ้าและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ดี และ ล่าสุด บริษัทได้บรรลุเงื่อนไขบังคับภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ และจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมในทันที 

ธุรกิจทรัพยากรโตไม่หยุด

ท้ายสุดธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง BCP ลงทุนผ่านบริษัท OKEA ASA (OKEA) โดยถือหุ้น 45.58% มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด OKEA ได้ร่วมกับผู้ร่วมลงทุนเดินหน้าพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม Brasse ตั้งอยู่ในทะเลนอร์เวย์ ซึ่งคาดว่ามีปริมาณปิโตรเลียมสำรองจำนวน 24 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (MBOE) โดยสัดส่วนของ OKEA เท่ากับ 39.2788%

ส่งผลให้ปริมาณปิโตรเลียมสำรอง (2P) ตามสัดส่วนของ OKEA เพิ่มขึ้นจากประมาณ 83 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็นกว่า 92 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยคาดการณ์จะเริ่มผลิตได้ช่วงครึ่งแรกของปี 2570 ทั้งนี้ BCP ตั้งเป้ากำลังการผลิตของ OKEA ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 3.5-4 หมื่นบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และเพิ่มเป็น 1 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 2570

โดยจากแนวโน้มส่วนธุรกิจต่างๆ ของ BCP ทำให้ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2566 ที่มียอดขาย 3.96 แสนล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายได้หลังควบรวม ESSO เต็มปี และหลายฝ่ายเชื่อว่าเป้าหมายที่วางไว้มีความเป็นไปได้สูง

หลังซ่อมบำรุงกลับมาโดดเด่น

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด ประเมินภาพรวมธุรกิจของ BCP ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/67 ที่ 2.43 พันล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หากตัดรายการพิเศษและการด้อยค่าของ OKEA และอื่นๆ ออก บริษัทจะมีกำไรปกติ 2.81 พันล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ นั่นคือกำไรทรงตัวรับรู้กำไรของ BSRC และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 23% ของ OKEA สามารถชดเชยกำไรโรงกลั่นที่ลดตามค่าการกลั่น ขณะที่กำลังการผลิตใหม่ส่งผลให้ Supply ตึงตัวน้อยลง

นั่นเพราะโรงกลั่นศรีราชาผลิตเพิ่มขึ้น และค่าการกลั่นฟื้นหนุนจาก spread gasoline ที่ Supply ตึงตัวจากการปิดซ่อมนอกแผน ขณะที่ OKEA ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 82% หนุนจากแหล่งใหม่ และธุรกิจโรงไฟฟ้ากำไรจากโรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐฯ ฟื้นตัว

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรปกติในไตรมาส 2/67 ของ BCP จะเติบโตเพราะแรงหนุนจาก BSRC เนื่องจากไตรมาส 2/66 ยังไม่มี และธุรกิจ OKEA ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 54% จากแหล่งใหม่ กลบโรงกลั่นพระโขนงที่กำไรลดลงตามค่าการกลั่น หลัง supply น้ำมันโลกออกมาเพิ่มทั้งโรงกลั่นที่ออกจากการปิดซ่อมและโรงกลั่นใหม่ รวมถึงโรงกลั่นพระโขนงมีปิดซ่อม แม้ OKEA ปริมาณขายอาจลดลง 25% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากแหล่งผลิตบางส่วนปิดซ่อม และราคาก๊าซลดหลังผ่านฤดูหนาว

ทำให้คงคำแนะนำ BUY ต่อ BCP ราคาเหมาะสม 55.00 บาทต่อหุ้น ให้รอดูการฟื้นตัวของค่าการกลั่นในช่วงปลายไตรมาส 2/67 ก่อนได้ค่อยกลับมาสะสม รอการฟื้นตัวในไตรมาส 3/67 ของธุรกิจโรงกลั่นที่ได้แรงหนุน Driving season และโรงกลั่นพระโขนงออกจากการปิดซ่อม รวมถึง OKEA ปริมาณการขายฟื้นหลังหลุมผลิตออกจากปิดซ่อม


กำลังโหลดความคิดเห็น