xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ แก้เกมรีเจกต์เรตพุ่ง งัดสารพัดแพกเกจ เติมพลังช่วยลูกค้าโอนบ้าน-คอนโดฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้รัฐบาลจะได้มีการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรับสร้างบ้านออกมาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือ 0.01% ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2568 การให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารของรัฐ ในการสนับสนุนสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ลูกค้าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทำให้ ธอส.ต้องเพิ่มกรอบวงเงินเชื่อ Happy Life เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท รวมเป็น 20,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่เพียง 1.95% ต่อปี และเฉลี่ยใน 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นความต้องการสินเชื่อบ้านในระบบยังมีอยู่สูง แต่ลำพัง ธอส.เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ

ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมอสังหาฯ ตลอดปีนี้ ยังมีความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่อแผนขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทอสังหาฯ เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยังเป็นแบบตัว K หรือ K-Shaped และปัญหาด้านอื่นๆ ที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งปัญหาหนี้สินครัวเรือน ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ธนาคารมียอดปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงถึง 60-70% แนวโน้มราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยขยับขึ้นเฉลี่ย 5-10%

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของกำลังซื้อที่ลดลงและปัญหาเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคาร ซึ่งมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงโดยอยู่ในช่วงระหว่าง 60-70% และเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการต่างเร่งหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่พยายามออกมาตรการหรือนโยบายภายในบริษัท เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ซื้อโครงการของตนเองให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ หรือปิดการขายโครงการของตนเองได้แบบรวดเร็วหรือภายในระยะเวลาที่ผู้ประกอบการยอมรับ และเป็นการผูกมัดผู้ซื้อหรือผู้ที่เข่าร่วมมาตรการของบริษัทต้องอยู่กับบริษัทไปต่อเนื่องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งมาตรการของแต่ละบริษัทที่ประกาศออกมาในช่วงที่ผ่านมามีทิศทางหรือเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ กัน

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไร หรือออกมาโดยผู้ประกอบการรายใด ล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เดียวคือให้สามารถปิดการขายได้ และผู้ซื้อสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายหลัง และแม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ผู้ประกอบการให้ความช่วยเหลือ หรือผ่อนชำระกับผู้ประกอบการโดยตรงไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วยังคงต้อใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินเข้ามาใช้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอยู่ดี

"ไม่ว่ามาตรการจะออกมาแล้วประสบความสำเร็จเพียงใด แต่ถ้าสถาบันการเงินยังเข้มงวดแบบที่ผ่านมาอาจจะยากในการโอนกรรมสิทธิ์" นายสุรเชษฐ กล่าว


อสังหาฯ งัดทุกกลยุทธ์ช่วยลูกค้ากู้โอนบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการสำรวจกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่หาวิธีรับมือความเสี่ยง กรณีลูกค้าขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วไม่ได้รับอนุมัติวงเงิน หรือได้รับวงเงินที่ต่ำกว่าราคาซื้อขาย ว่า ทั้งบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ และรายกลางต่างหาวิธีบรรเทาผลกระทบที่จะไม่ให้ส่งผลถึงตัวการรับรู้รายได้ หรือการรักษากลุ่มลูกค้าไว้ เพื่อให้มีโอกาสกลับมาขอสินเชื่อได้ตามปกติ

โดย นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอัตราการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31% และอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 69% เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นและมีแนวโน้มต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องปรับตัวตาม

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น LPN จึงเล็งเห็นถึงความต้องการของเรียลดีมานด์ที่เผชิญกับอุปสรรคในการซื้อที่อยู่อาศัย จากการที่แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อในอัตราที่สูงในปัจจุบัน จึงเกิดเป็นมาตรการของบริษัทที่จะช่วยซัปพอร์ทลูกค้าผ่านแคมเปญ ‘LPN ดูแลให้’ และ ‘LPN เคลียร์ให้’ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเรามีทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์การเงินคอยให้บริการ เพื่อบริหารจัดการเครดิต และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อบ้าน รองรับลูกค้ากู้แบงก์ไม่ผ่าน ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยคุณภาพจาก LPN โดยคาดว่าแคมเปญดังกล่าวจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาสิ้นสุดแคมเปญถึง 31 ธ.ค.นี้

ขณะที่ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ได้ปรับตัวและพัฒนารูปแบบการซื้อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยการดูแลในแต่ละ Gen ผ่านบริการที่ตรงใจกับไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อ ให้สอดรับกับราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้น

ประกอบด้วย รูปแบบ RENT TO OWN (เช่าซื้อ) เป็นการให้เช่ากลุ่ม GenX, Y ที่ซื้อไม่ได้ ให้สามารถเช่ากับเสนาฯ โดยตรงในตลาดกลาง-ล่าง หากมีจำนวนมากในอนาคตสามารถเข้ากองรีทได้ NEW Financial Asset เพื่อรองรับ Gen Z เป็น Generation Rent ในระดับราคา 7,000-9,000 บาทต่อเดือนตามแหล่งงาน เช่น ห้วยขวาง สาทร ลาดพร้าว เป็นต้น จะเปิดตัวปลายเดือน มี.ค.นี้

และ GREEN BUNDLES SENA LOW CARBON+EV CAR เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 3 เพื่อให้สามารถครอบคลุมหลายเซกเมนต์ แนวทางดังกล่าวนอกจากจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้แล้ว ยังช่วยให้เสนาฯ สามารถระบายสต๊อกหรือสินค้าคอนโดฯ พร้อมโอนราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่มีอยู่ 5,000-6,000 ยูนิตออกไปได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เสนาฯ ได้มีการพัฒนาธุรกิจ เงินสดใจดี เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาผู้บริโภคที่ติด Reject Rate ให้สามารถกู้ได้


SC ชู 2 โมเดลอสังหาฯ เจาะคนรุ่นใหม่
บอกรับสมาชิกอยู่คอนโดฯ หรู-เช่าก่อนอยู่


นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC กล่าวว่า จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จะนิยมเช่าที่อยู่อาศัยมากขึ้นแทนการซื้อ โดยเฉพาะการเช่าคอนโดฯ เนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินยังไม่แข็งแรง อาจจะมีโอกาสขอสินเชื่อไม่ผ่านสูง ดังนั้น เอสซีฯ จึงอยู่ระหว่างศึกษาออปชันเสริมให้ลูกค้ากลุ่มนี้ใน 2 รูปแบบ คาดว่าจะสรุปผลและเลือกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายปีนี้กับกลุ่มสินค้าราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.Subscription Model ในรูปแบบการสมัครเป็นสมาชิก แล้วจ่ายค่าสมัครสมาชิกเป็นรายเดือน เพื่อให้สามารถใช้สินค้าและบริการของเอสซีฯ ซึ่งต่างจาการเช่าที่อยู่อาศัยแบบปกติทั่วไป เช่น ลูกค้าสามารถเลือกห้องพักและเปลี่ยนห้องพักได้ในช่วงระยะเวลา 1 ปีได้ 2 ครั้ง รวมทั้งได้รับบริการพิเศษบางอย่างจากเอสซีฯ ด้วย เช่น เลือกใช้บริการ Facilities ในโครงการอื่นได้

และ 2.ออปชันพิเศษ จะเป็นในรูปแบบ Rent to Own (เช่าก่อนแล้วมาเป็นเจ้าของ) หลังจากที่เช่าอยู่ไปแล้ว 1-2 ปีแล้วสนใจจะซื้อห้องชุดนั้นเป็นทรัพย์สินของตัวเอง

"กลุ่มที่มีปัญหาด้านรายได้ เช่น ปีนี้อาจจะยื่นกู้แล้วไม่ผ่าน แต่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อาจจะมีความพร้อมด้านการเงินสามารถเลือกเช่าห้องชุดไปก่อน และเมื่อพร้อมก็รับโอนห้องชุดได้ แนวทางนี้จะช่วยลดเรื่องรีเจกต์เรตได้"

ศุภาลัยช่วยผ่อนสูงสุด 2 แสนบาท

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ศุภาลัยไม่รอช้าส่งโปรโมชันส่งเสริมการตลาดรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับทุกไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าในราคาที่สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้มากขึ้นสำหรับสินค้าสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ มาให้เลือกสรร รวมกว่า 100 โครงการของศุภาลัยทั่วประเทศ

"ศุภาลัยพร้อมให้คุณได้เป็นเจ้าของโครงการบ้าน และคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ในทำเลโดนใจกับโปรเด็ด “ศุภาลัย ของแทร่ แฟร์ทุกช้อยส์” ที่จัดหนักให้ ฟรีค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง ค่าส่วนกลาง 1 ปีแรก และค่ามิเตอร์น้ำไฟฟ้า พร้อมของแถมสุดเฉียบกับช้อยส์แรก รับไปเลยชุดเครื่องใช้ไฟฟ้า Dyson + Samsung สูงสุด 8 ชิ้น หรือช้อยส์ที่ 2 ช่วยผ่อนสูงสุด 200,000 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.นี้"


ดีมานด์สินเชื่อบ้านล้นทะลัก
ธอส.เติม “Happy Life” อีก 2 หมื่นล้าน


ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แกนหลักที่สนับสนุนให้คนไทยมีบ้าน ได้มีการออกสินเชื่อ Happy Life ปรากฏว่า ความต้องการมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ธอส.จึงได้เพิ่มกรอบวงเงินสินเชื่อ Happy Life อีก 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่เพียง 1.95% ต่อปี หลังได้รับการตอบรับ ลูกค้าสนใจยื่นขอสินเชื่อเต็มกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาทแรกแล้ว โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 และทำนิติกรรมภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

โดย นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารจัดทำสินเชื่อบ้าน Happy Life ปี 2567 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่เท่ากับ 1.95% ต่อปี ปีที่ 2-3 คงที่เท่ากับ 3.50% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเท่ากับ 2.98% เท่านั้น) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี ลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี และกรณีชำระหนี้ เท่ากับ MRR ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. ปัจจุบัน เท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้นานสูงสุด 40 ปี เงินงวดปีแรกเพียงล้านละ 3,500 บาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น