xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.รับ Q1บาทอ่อน 7.8% นำสกุลเงินภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.รับค่าบาทอ่อนมากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคในช่วงไตรมาศแรก เนื่องจากมีปัจจัยภายในประเทศของการประมาณการเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามที่คาดและปัจจัยภายนอกประเทศดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 4.4% โดยตั้งแต่ตั้นปีบาทอ่อนค่าประมาณ 7.8% รองจากเงินเยนอ่อนค่า 9.6% แต่ไม่พบความผิดปกติของการไหลเข้าออกของเงิน หลังจากเมษายนค่าบาทอ่อนค่าตามกลไกตลาด สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และอาจจะมีการอ่อนค่าลงนิดหน่อยตามฤดูกาลจ่ายเงินปันผล พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าตามปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่พบความผิดปกติ เงินไหลเข้าไหลออกยังคงปกติ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างๆ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ราว 4.4%

ในขณะที่ค่าเงินบาทนั้น นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to Date) อ่อนค่าไป 7.8% เป็นอันดับ 2 รองจากเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าไปแล้วถึง 9.6% ซึ่งในช่วงไตรมาศแรกพบว่าเงินบาทอ่อนค่านำสกุลเงินอื่น เนื่องจากจะได้รับผลจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีผลมาจากปัจจัยในประเทศไทย ที่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงเป็นผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค

"ยอมรับว่าเงินบาทในไตรมาส 1 อ่อนค่านำสกุลเงินอื่น เพราะนอกจากจะมีสาเหตุจากนโยบายของเฟดแล้ว ยังมาจากเรื่องในประเทศด้วย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจออกมา soft กว่าคาด จึงทำให้บาทอ่อนมากกว่าภูมิภาค แต่ ธปท.ไม่เข้าไปดูแลค่าบาทตามธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค" นายสักกะภพ กล่าว

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาส 2 ในเดือนเมษายนนี้ เงินบาทก็เริ่มอ่อนค่าตามปัจจัยภายนอก และอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาค โดยอ่อนค่าเพียง 1.7% ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังอ่อนค่ามากกว่า 2% ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามกลไกตลาดที่เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

"ตั้งแต่ เม.ย. เงินบาทเกาะกลุ่มเคลื่อนไหวในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยไตรมาส 2 เงินบาทยังอาจจะอ่อนค่าจาก seasonal มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งกดดันให้บาทอ่อนค่าได้ แต่เหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว เชื่อว่าปัจจัยที่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าจะค่อยๆ ลดลงไปในช่วงครึ่งปีหลัง" นายสักกะภพ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น