นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยืเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 37.03 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.10 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.96-37.08 บาทต่อดอลลาร์) ตามแนวโน้มเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่แกว่งตัวในกรอบ sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงาน และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้นหลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เคลื่อนไหวผันผวนสูง คล้ายกับช่วงที่มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น (แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะยังไม่ยืนยันการเข้าแทรกแซงก็ตาม) โดยผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มประเมินว่าค่าเงินเยนแถว 160 เยนต่อดอลลาร์ อาจเป็นโซนที่ทางการญี่ปุ่นประเมินว่าเป็นการผันผวนอ่อนค่าเกินไปและเสี่ยงต่อการถูกเข้าแทรกแซง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยลดทอนแรงหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ ในกรณีที่เงินเยนจะไม่สามารถอ่อนค่าไปเกินระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ และมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (หากประเมินจากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นอาจแกว่งตัวในช่วง 155 เยนต่อดอลลาร์ได้)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบไม่ต่างจากวันก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์นี้ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน แต่หากผู้เล่นในตลาดไม่ได้มีความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น (จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ) อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเหนือระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่ได้ประเมินไว้
ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้แม้เงินบาทอาจมีการแข็งค่าขึ้นมาบ้างอาจติดโซนแนวรับแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ หรือ ธีม US Exceptionalism ได้อ่อนกำลังลงชัดเจน (ต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น) เงินบาทถึงจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้
อนึ่ง ตลอดทั้งสัปดาห์นี้เรามองว่าควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในช่วงสัปดาห์หยุดยาว Golden Week ทำให้สภาพคล่องในตลาดนั้นเบาบางลงชัดเจน และเหมาะต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะหากโมเมนตัมเงินดอลลาร์ได้แผ่วลงบ้าง ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อในฝั่งยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ส่วนในฝั่งเอเชีย ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีนในเดือนเมษายน ที่หากออกมาสูงกว่าระดับ 50 จุด อาจยังคงสะท้อนการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน และช่วยให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจมากขึ้นได้
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board รวมถึงดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) โดยต้องระวังในกรณีที่รายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด/สูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้