เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ตลาด MAI อนุมัติให้หุ้นบริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA เข้าซื้อขายในวันแรก และถือเป็นหุ้นน้องใหม่ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้น
TERA เป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอที และให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร โดยนำหุ้นเสนอขายครั้งแรกจำนวน 90 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท จากราคาพาร์ 50 สตางค์ โดยมีค่าพี/อี เรโช 14.50 เท่า
TERA เปิดซื้อขายวันแรกที่ราคา 3.90 บาท และถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 4.04 บาท และหล่นมาต่ำสุดที่ 2.70 บาท ก่อนจะขึ้นมาปิดที่ 2.80 บาท สูงกว่าจอง 1.05 บาท หรือสูงกว่าจอง 60% มูลค่าซื้อขายหนาแน่น 1,216.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณซื้อขาย 377.98 ล้านหุ้น สูงกว่าหุ้นที่นำมาจัดสรรกว่า 300%
แม้นักเก็งกำไรจะเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันบ้าง จากการไล่เคาะซื้อหุ้นในช่วงแรกที่เปิดการซื้อขาย แต่โดยภาพรวมแล้ว TERA ถือเป็นหุ้นใหม่ที่สอบผ่าน ราคาสูงกว่าราคาจองหรือราคาเสนอขาย
ปัญหาหุ้นใหม่ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วต่ำกว่าจองกำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีหยิบยกมาโจมตีผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ในฐานะผู้แต่งตัวบริษัทจดทะเบียนใหม่ นำหุ้นเข้าซื้อขาย
และบริษัทผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น หรืออันเดอร์ไรเตอร์ ซึ่งร่วมกันกำหนดราคาเสนอขายหุ้น
ในแต่ละปีจะมีหุ้นใหม่เน่าๆ หลุดเข้ามาในตลาดหุ้น สร้างความเสียหายให้นักลงทุน โดยเข้ามาซื้อขายแล้วราคาต่ำกว่าจอง
บางปีมีหุ้นใหม่กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขาย โดยราคาต่ำกว่าจอง
ยังไม่มีหน่วยงานในตลาดหุ้นที่ออกมารับประกันว่า จะไม่มีหุ้นใหม่ที่ได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายแล้วกลายเป็นหุ้นเน่า เพราะราคาต่ำกว่าจองอีก
เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์กำลังรวบรวมข้อมูลบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจก่อนจองซื้อหุ้นใหม่
บริษัทที่ปรึกษาการเงินแต่ละรายจะมีทะเบียนประวัติว่า เคยเป็นที่ปรึกษาบริษัทจดทะเบียนใหม่กี่ราย และหุ้นที่นำเข้าซื้อขายราคาต่ำกว่าจองหรือไม่ และต่ำกว่าจองกี่บริษัท ซึ่งนักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้
หากเห็นว่าบริษัทที่ปรึกษาแห่งใดนำหุ้นเน่าเข้ามาซื้อขาย โดยราคาต่ำกว่าจอง อาจตัดสินใจไม่จองซื้อหุ้นใหม่ที่บริษัทที่ปรึกษาการเงินรายใดรายหนึ่งนำเข้าจดทะเบียน
การขึ้นทะเบียนประวัติบริษัทที่ปรึกษาว่า นำหุ้นใหม่เข้ามาจดทะเบียนแล้วเท่าไหร่ นำหุ้นใหม่เน่าๆ มาเสนอขายแล้วกี่ตัว เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาหุ้นใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์คิดได้ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาหุ้นใหม่ที่ราคาต่ำจองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
วงจรอุบาทว์หุ้นใหม่ต่ำกว่าจอง นักลงทุนโดยทั่วไปจะมองว่า ปัญหาเกิดจากการสุมหัวของเจ้าของหุ้นใหม่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทอันเดอร์ไรเตอร์ ร่วมกันตั้งราคาขายหุ้นใหม่แพงเกินจริง เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป
แต่อีกภาคส่วนที่ร่วมในวงจรอุบาทว์หุ้นใหม่และถูกมองข้าม หรือถูกพูดถึงกันน้อยคือ กลุ่มคนที่สวมคราบความเป็นสื่อหุ้น ซึ่งจ้องตบทรัพย์หุ้นใหม่
บริษัทจดทะเบียนใหม่รายใดที่ยอมจ่ายเงินฟาดหัว สื่อหุ้นบางสำนักจะกลายเป็นสุนัขเชื่องๆ ผิดปากเงียบ ไม่เห่าหอน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ หุ้นใหม่ที่ตั้งราคาเสนอขายแพงลิบลิ่ว และเมื่อหุ้นเข้าซื้อขาย ราคาต่ำจองก็ไม่ยอมพูดถึง
ไม่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้ลงทุน ไม่วิพากษ์วิจารณ์การตั้งวราคาเสนอขายหุ้นใหม่ที่ไม่เหมาะสม
แต่บริษัทจดทะเบียนใหม่รายใดที่ไม่ยอมจ่ายเงินปิดปาก สื่อหุ้นบางสำนักจะกลายร่างเป็นอันธพาล หาเรื่องด่า กระแหนะกระแหน ขุดคุ้ยประเด็นมาโจมตี ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในการจองซื้อหุ้นใหม่
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งเป็นหัวขบวนของวงจรอุบาทว์หุ้นใหม่ มักยอมหมอบราบคาบให้สื่อหุ้น โดยจัดงบเพื่อปิดปากสื่อหุ้น ป้องกันการถูกรังควาน และจ้างวานให้เชียร์ซื้อหุ้นใหม่
สื่อหุ้นบางสำนักตั้งวงเงินตบทรัพย์หุ้นใหม่รายละประมาณ 5 แสนบาท ซึ่งปีนี้จะมีหุ้นใหม่เข้าตลาดหุ้นประมาณ 40 บริษัท สื่อหุ้นสำนักนี้จึงโกยรายได้จากหุ้นใหม่สบายๆประมาณ 20 ล้านบาท
ปัญหาหุ้นใหม่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วราคาต่ำกว่าจองควรหมดไปเสียที แต่ใครล่ะจะทำลายวงจรอุบาทว์หุ้นใหม่
ใครล่ะจะปลุกจิตสำนักเจ้าของหุ้นใหม่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทอันเดอร์ไรเตอร์ และสื่อหุ้นให้ตระหนักถึงความเสียหายของนักลงทุน
เพราะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นใหม่ล้วนแต่มุ่งมั่นตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวเองทั้งสิ้น แม้ผลประโยชน์ที่ได้รับจะเกิดขึ้นบนความย่อยยับของประชาชนผู้ลงทุนก็ตาม
ปัญหาหุ้นใหม่ต่ำกว่าราคาจองคงจะดำรงอยู่ต่อไปในตลาดหุ้นไทย และแม้แต่ผู้นำประเทศก็แก้ปัญหาหุ้นใหม่ต่ำจองไม่ได้