สำนักงาน ก.ล.ต. เผยเตรียมเฮียริ่งเปิดทางกองทุนลงทุนโทเคน-คริปโต เดือน พ.ค.นี้ เปิดโอกาสกองทุนสามารถเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดประเภทของกองทุน และอื่น ๆ พร้อมหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและซอฟท์เพาเวอร์รับนโยบายรัฐ
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.เตรียมเปิดเฮียริ่งในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อเปิดโอกาสกองทุนสามารถเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดประเภทของกองทุน มูลค่าเงินลงทุน ความเสี่ยงของการลงทุน เป็นต้น โดยสินทรัพย์ดิจิทัลในประเด็นนี้ ทั้ง Investment Token และคริปโตเคอร์เรนซี่ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสและสร้างทางเลือกให้กับนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น
สำหรับการสนับสนุนด้านการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล ก.ล.ต. เตรียมเปิดเฮียริ่งเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำไฟลิ่ง Investment Token ในรูปแบบ Shelf Filling เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนผ่าน Investment Token โดยเฉพาะการสนับสนุนด้าน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ทำให้ค่ายเพลง นักแต่งเพลง ค่ายหนัง ค่ายละคร ผู้กำกับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power เข้ามานำเสนอโครงการผ่าน Investment Token ให้กับนักลงทุนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการระดมทุน และดึงดูดนักลงทุนที่สนใจลงทุนในรูปแบบดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ก.ล.ต. ได้นำส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และพบการสร้างบัญชีม้า และการหลอกประชาชนให้เข้ามาลงทุน
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตและชักชวนให้มีการใช้บริการในประเทศไทย โดยกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามบทบาทหน้าที่ รวมถึงปิดกั้นการเข้าถึงบริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น กรณี Binance และ กรณีบริษัท Bybit Fintech Limited (Bybit)
ก.ล.ต.ยังเข้มงวดกับการป้องกันการโฆษณาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บังคับไม่ให้มานำเสนอแก่ผู้ลงทุน รวมถึงผู้จัดงานและกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ไม่ให้นำเสนอแก่ผู้ลงทุนภายในงาน ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องผู้ลงทุน
ส่วนการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น นายเอนก กล่าวว่า จะมีการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณคุณภาพหลักประกันเพื่อกำหนดวงเงินในการซื้อขาย ทั้งบัญชีเครดิต (มาร์จิ้น) และบัญชีเงินสด (Cash balance) โดยเกณฑ์ใหม่จะกำหนดแนวทางและลดวงเงินซื้อกรณีหุ้นหลักประกันที่มีความผันผวนของราคาสูง หลังเกิดกรณีการทุจริตในการซื้อขายของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) คาดได้เห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2/67
ทาง ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มบทลงโทษทางแพ่งเพิ่มเติม เช่น เพิ่มค่าปรับ จากเดิมโทษทางแพ่งกรณียินยอมจะมีการเปรียบเทียบปรับรวมเฉลี่ยราว 1.25 เท่าของมูลค่าประโยชน์ เป็นต้น รวมถึงการหาโอกาสในการหาแนวทางป้องปรามในอนาคต นอกเหนือจากการแจ้งเตือนผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อป้องกันการกระทำความผิดในอนาคต
ขณะที่การเอาผิดกับผู้กระทำผิดสร้างราคาหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน (มี.ค. 67) ทั้งหมด จำนวน 61 คดี มีจำนวนผู้กระทำผิด 241 ราย มูลค่าการปรับทางแพ่ง 1.5 พันล้านบาท และค่าชดใช้ 194 ล้านบาท หากนับเฉพาะในไตรมาส 1/27 มีกรณีผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหลักทรัพย์และอื่นๆรวมทั้งหมด 3 คดี