xs
xsm
sm
md
lg

GSC เล่นกล...เงินผู้ถือหุ้นหาย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลายปีที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการธุรกรรมการเงิน ซึ่งมีปมน่าสงสัย เข้าข่ายการไซฟ่อนเงิน สร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้น และแต่ละบริษัทได้ชี้แจงกลับมาอย่างข้างๆ คูๆ โดยตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมที่ต้องสงสัยในเชิงลึกได้ต่อ

ทำได้เพียงส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกรรมเข้าข่ายไม่โปร่งใสเท่านั้น

ล่าสุด ต้นสัปดาห์ที่ผานมา ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GSC ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินปี 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข กรณีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีของบัญชีเงินฝากธนาคารของกลุ่มบริษัทจำนวน 70 ล้านบาท

และมีข้อสังเกตกรณีบริษัทได้รับหนังสือจากกรรมการของบริษัท 4 คนในเดือนกันยายน 2566 ขอให้ระงับการทำรายการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 150 ล้านบาท ซึ่งต่อมาปรากฏรายการขาดทุนจากการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการขอคืนเงินมัดจำค่าซื้อที่ดิน 100 ล้านบาทไม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีรายการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยมูลค่า 60 ล้านบาท ซึ่งเคยบันทึกเป็นกำไร 23 ล้านบาท แต่ในงบการเงินปี 2566 กลับมีผลขาดทุนจาการขายบริษัทย่อยจำนวน 37 ล้านบาท

ทั้ง 3 ปมของธุรกรรมทางการเงิน ส่งผลให้ GSC มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2566 จำนวน 118 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 29 เมษายน 2567 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ GSC และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

GSC ดำเนินธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล ธุรกิจติดตามและทวงถามหนี้ เข้าจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนครั้งแรกในราคาหุ้นละ 1.70 บาท จากราคาพาร์ 50 สตางค์

หลังเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นได้ GSC ก็ออกลายทันที เพราะผลประกอบการที่เคยแสดงในงบการเงินมีกำไรก่อนเข้าจดทะเบียนกลับกลายเป็นผลขาดทุน โดยปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 8.07 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 15.64 ล้านบาท ปี 2565 พลิกมามีกำไรสุทธิ 15.49 ล้านบาท

แต่ปี 2566 ขาดทุนพุ่งขึ้น 117.70 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธุรกรรมที่น่าสงสัยในหลายรายการ

GSC เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก มีรายได้แต่ละปีประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนหุ้นไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปเท่าไหร่ แต่ในบางช่วงราคาหุ้นถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง โดยในรอบ 12 เดือน ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 2.20 บาท และต่ำสุดที่ 92 สตางค์

ล่าสุด วันอังคารที่ 23 เมษายนที่ผ่านมาปิดที่ 1.61 บาท โดยระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ราคาร่วงลงไปต่ำสุดที่ 1.45 บาท เนื่องจากถูกผลกระทบจากการที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงปมธุรกิจ แต่ราคาหุ้นถูกลากขึ้นมาปิดที่ 1.61 บาท จากติดลบกลายมาปิดบวก 3 สตางค์

ผู้ถือหุ้นรายย่อย GSC มีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 1,424 ราย สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนโดยทั่วไปไม่ได้ให้ความนิยมหุ้นขนาดเล็กตัวนี้มากนัก และยิ่งมิปมธุรกรรมที่ต้องสงสัยในความไม่โปร่งใส จะทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหรือถอยห่างจากหุ้น GSC

เพียงแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ติดค้างอยู่ใน GSC จำนวนกว่า 1 พันราย จะตัดสินใจอย่างไรกับพฤติกรรมการบริหารงานที่ถูกตลาดหลักทรัพย์จับตาเท่านั้น

เพราะดูผลประกอบการย้อนหลังแล้ว บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ดูไม่มีอนาคตสดใสเท่าไหร่

และยิ่งมีปมธุรกรรมทางการเงิน จนผลประกอบการบริษัทย่ำแย่ ขาดทุนยับ 117 ล้านบาท ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องเร่งตัดสินใจ 

จะอยู่กับหุ้น GSC ต่อ หรือตัดใจขาย พอทีกับ GSC เพียงเท่านี้








กำลังโหลดความคิดเห็น