xs
xsm
sm
md
lg

BBL-KBANK เผยตั้งสำรอง ITD ครบตามเกณฑ์ ไร้แผนตั้ง Virtual Bank

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานจากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) เปิดเผยในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า กรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เป็นลูกค้าของธนาคารมาหลายปี มั่นใจว่า ITD สามารถจะดำเนินธุรกิจได้ต่อในอนาคต เพราะ ITD มีขีดความสามารถสูง ขณะนี้ธนาคารได้มีการเข้าช่วยเหลือ ITD ในเรื่องของสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ และได้มีการตั้งสำรองกรณี ITD เรียบร้อยแล้วในระดับที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการตั้งสำรองโดยรวมในระดับที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ส่วนกรณีการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ มองว่า ผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการเงินที่มีอยู่ครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ธนาคารมีแผนที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับธนาคารรายใหม่ในรูปแบบ Virtual Bank ได้

"การยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการมี Virtual Bank มองว่าจะช่วยให้ลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น ธนาคารยังไม่ได้มีการตัดสินใจเรื่อง Virtual Bank ในขณะนี้"

ส่วนธุรกิจต่างประเทศของธนาคารนั้น ประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดหลักในการสร้างผลรายได้และผลกำไรให้ธนาคารในปีนี้ ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5-6% ประชากรมีมากถึง 80 ล้านคน และเป็นกลุ่มคนอายุน้อยในจำนวนมาก ทำให้ธนาคารสามารถต่อยอดธุรกิจผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ผ่านธนาคารเพอร์มาตาได้จำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมา ธนาคารเพอร์มาตาส่งกำไรให้ธนาคารกรุงเทพที่ 5,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ธนาคารยังคงบริหารในรูปแบบเดิม คือ บริหารเอง ดังนั้น จึงไม่มีแผนตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (JV AMC )

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมได้อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2566 สำหรับหุ้นสามัญ ในอัตราหุ้นละ 7.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,361,900,258 บาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ 35.60% โดยเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสะสม ซึ่งธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายอีกในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท ในวันที่ 10 พ.ค.2567 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 23 เม.ย.2567

ด้านธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) ระบุจากประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 112 โดยในวาระที่ 3 ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติจัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงานปี 2566 เพื่อจ่ายเงินปันผลสำหรับผู้ถือสามัญในอัตราหุ้นละ 6.50 บาท รวมเป็นเงิน 15,400 ล้านบาท คิดเป็น 36.97% ของกำไรสุทธิปี 2566 โดยธนาคารได้จ่ายเงินปันผลกลางปีไปแล้ว 1 รอบเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท รวมเป็นเงิน 1,185 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ ต่อข้อซักถามของผู้ถือหุ้นกรณีการตั้งสำรองของลูกค้ารายใหญ่ที่มีปัญหาทางด้านสภาพคล่องนั้น น.ส.ขัตติยา อืนทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองในกรณีของลูกค้ารายดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วตามการจัดชั้นของลูกหนี้ดังกล่าว ส่วนในระยะถัดไปจะติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านงบการเงิน หรือข้อมูลอื่นๆ รวมถึงธุรกรรมต่างๆ ที่มีอยู่กับธนาคารประกอบกัน และไม่เพียงแต่รายนี้ ธนาคารยังติดตามดูแลกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่โดยรวมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าทุกกลุ่มมีความสำคัญกับธนาคาร แต่ในช่วงนี้เป็นที่ยากลำบากไม่ว่าจะเป็นของลูกค้า หรือธนาคารพาณิชย์ต้องเลือกลูกค้าที่ไปต่อได้ ซึ่งในทุกกลุ่มจะมีลูกค้าแบบนี้ ขณะที่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบหรือกลุ่มเปราะบาง ยังให้ความดูแลอยู่เช่นเดิม

สำหรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Visual Bank) นั้น ทางธนาคารได้พิจารณาถึงเกณฑ์ในการจัดตั้ง Visual Bank รวมถึงได้หารือกับคณะจัดการ คณะกรรมการในเรื่องดังกล่าวแล้ว ณ วันนี้ยังไม่ได้มีพาร์ตเนอร์ใดที่เราจะร่วมมือในการจัดตั้ง Visual Bank แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ หากมีสิ่งที่ไหนที่จะตอบโจทย์ของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น Visual Bank หรือไม่ ธนาคารพร้อมที่จะดำเนินการต่อไป

ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้นขาลงนั้น หากมีการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารกสิกรไทยต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้อง โดยในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง จาก 2.50% เหลือ 2.00% ทั้่งนี้ ธนาคารจะพยายามบริหารจัดการทางด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากสุทธิ (NIM) ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้มากที่สุด

ส่วนกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็น 1 ในเจ้าหนี้นั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟู โดยมีกำหนดการพิจารณาแผนฟื้นฟูในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียนั้น จากการเข้าไปเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ในธนาคารเมสเปี้ยนอินโดนีเซียเสร็จสิ้น ทำให้ธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นในแมสเปี้ยนเท่ากับ 84.55% โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอเป็นหลักในเบื้องต้นเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อ และจะขยายต่อด้วยระบบการชำระเงิน ซึ่งในไตรมาส 2 นี้น่าจะมีร้านค้าที่รับ QR Payment ของธนาคารกว่า 4,000 ร้าน ซึ่งหากทางแมสเปี้ยนมีผลประกอบการที่ดีจะส่งผลดีกลับมาถึงธนาคารกสิกรไทยในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น