Krungthai COMPASS ระบุโครงการ Digital Wallet เป็นมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะข้างหน้า และช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 5.0 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ของ GDP และด้วยวิธีการโอนเงินโดยตรงถึงมือประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ-หนุนการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าปลีกในภูมิลำเนาของตนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทั้งยังช่วยหนุนให้กิจกรรมการค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบ อันจะเป็นที่มาของรายได้รัฐบาลในอนาคต อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ โดยคาด Digital Wallet จะหนุนการขยายตัวของ GDP ได้ประมาณ 1.2-1.6% ใกล้เคียงกับตัวเลขซึ่งคณะกรรมการ กกร. เคยคาดไว้ที่ 1.0-1.5%
ทั้งนี้ มองว่านโยบายนี้ถือเป็นมาตรการ Quick-win ที่จะผลักดันอุปสงค์ภายในประเทศให้สามารถฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งยังกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า สำหรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2567 ล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 2.6% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหลายแห่งนั้น ยังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยบวกที่อาจเกิดเกิดขึ้นจากโครงการ Digital Wallet อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการดำเนินโครงการนี้ยังอาจต้องคำนึงผลของการโยกเงินงบประมาณ 2567 ผ่านการจัดสรรเม็ดเงินที่นำมาจากโครงการอื่น รวมถึง Crowding out effect จากต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามการเร่งระดมทรัพยากรการเงินของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาในระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการ Digital wallet อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยข้อมูลเป็นแกนกลาง หรือเรียกได้ว่า Data Driven Economy ทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ดีพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะถัดไป