เมื่อใดที่มีการเปิดเวทีสัมมนาเกี่ยวเรื่องของหนี้...หนึ่งผู้ร่วมที่มักจะขาดไม่ได้ก็คือ "สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เจ้าของขุมข้อมูลด้านหนี้สินของคนไทย และในครั้งนี้ก็เช่นกัน...งานสัมมนาประจำปี สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย "สุรพล โอภาสเสถียร" ได้เปิดมามุมมองในหัวข้อ "สถานการณ์หนี้ในมุมมองเครดิตบูโร"...
*เปิดตัวเลขหนี้เครดิตบูโรสิ้นปี 66**
นายสุรพลเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระบบจัดเก็บของโดยเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 66 มีจำนวน 13.6 ล้านล้านบาท โดยหลักๆ แบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 4.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% คิดเป็น 36.5% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อรถยนต์ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% คิดเป็น 19.1% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อบัตรเครดิต 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% คิดเป็น 4.3% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% คิดเป็น 19.0% ของสินเชื่อรวม ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2566 มีทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท หนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง 1.04 ล้านล้านบาท
ส่วนหนี้ค้างชำระ 30-90 วัน (SM) อยู่ที่กว่า 6.1 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้าน 1.78 แสนล้านบาท คิดเป็น 132,000 สัญญา เพิ่มขึ้น 31.1% สินเชื่อรถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% สินเชื่อบัตรเครดิต 9.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% ตัวที่หนึ่งที่เป็นพระเอก รถยนต์ สองสินเชื่อส่วนบุคคล สามบ้าน ส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อบ้านในปัจจุบันอยู่ค่อนข้างสูง โดยหนี้ SM ของสินเชื่อบ้านที่ 178,000 ล้านบาท โต 31% ไส้ใน 120,000 ล้านบาท เป็นบ้านที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนใหญ่กู้แบงก์รัฐ เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าคนรายได้ปานกลาง รายได้น้อยกู้ซื้อบ้านกับแบงก์รัฐราคาไม่เกิน 3 ล้าน หลังจากมีการขยับดอกเบี้ย ค่าครองชีพ หนี้ SM ก็ขยับตาม และขยับเพิ่มมากตรงจุดที่แบงก์รัฐ
กลุ่ม SM ยังน่าห่วง ตั้ง AMC ไม่แก้เบ็ดเสร็จ
ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์จากสถิติในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้า หนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านบาท และกลุ่ม SM จะอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของหนี้กลุ่ม SM นั้น ค่อนข้างอันตรายเพราะยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แล้วจะไหลลงมาที่เอ็นพีแอลตามอัตราการไหลจาก SM สู่ NPL (Migration rate) ที่ธปท.ระบุไว้คือ สินเชื่อบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 22% 12% 57%, และ 54% ตามลำดับ
"ที่น่าจับตาคือหนี้ SM สินเชื่อบ้านเพราะมีอัตราการไหลเป็นหนี้เสียถึง 22% แล้วยังมีความเสี่ยงที่กลุ่มลูกหนี้ที่พยายามเลี้ยงงวด แบบจ่ายงวดเว้นงวด หรือเว้น 2 เดือนงวดเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย อาจจะเลี้ยงงวดไม่ไหวตกลงมาเป็นหนี้เสีย ซึ่งตอนนี้มี 1.2 แสนล้านบาทส่วนใหญ่เป็นบ้านมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท และเป็นหนี้ของแบงก์รัฐ ซึ่งมองว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เป็นเพียงย้ายหนี้ไปอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หนี้หายไป ชีวิตเจ้าหนี้ดีขึ้น แล้วชีวิตลูกหนี้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าต้องไปอยู่กับเอเอ็มซี"
นายสุรพล กล่าวอีกว่า หนี้ครัวเรือนได้เร่งตัวขึ้นมาจากหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 จาก 76% เป็น 85% และเป็น 91% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และเป็นระดับจุดอันตรายที่ทางธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กำหนดไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี โดย ธปท.ได้คาดการณ์ลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับ 89% ในอีก 3 ปีหรือในปี 70 ซึ่งได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทำแผนรองรับวิกฤต แต่ปัญหาของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ที่กู้มาส่วนใหญ่กู้มากินมาใช้ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยสาเหตุของการเข้าหาหนี้นอกระบบคือ ศักยภาพการหารายได้ที่ต่ำ การเข้าถึงสิทธิที่จะทำมาหากินได้ดีมีน้อย และรายได้ไม่พอรายจ่าย เคยมีนักเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบว่าประเทศเรามี 2 ระบบ ระบบข้างบนเป็นเศรษฐกิจของคนรวยเป็นเศรษฐกิจที่เราเรียกว่าสังคมนิยมคือทุกอย่างพวกนี้ได้ แต่เศรษฐกิจด้านล่างเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือ อยู่ไม่ได้ ตายไป
นอกจากนี้ เรายังมีนวัตกรรมที่ประเทศอื่นเขาไม่มีคือผ่อน 0% มากระตุ้นการบริโภคกัน แม้กระทั่งซื้อสุนัขก็มีผ่อน...จนหลังสุดยังมี Buy Now Pay Later เท่ากับเรากินก่อน ใช้ก่อน แล้วค่อยใช้หนี้ คือการเอารายได้ในอนาคตมาใช้ ทีนี้พอปี 63 รายได้ไม่มีจ่ายหนี้ไม่ได้ ดอกเบี้ยพอกพูน นี่คือปัญหาของเรา ที่เรียกกันว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง
"ดูจากตัวเลขจะรู้ว่ากลุ่มที่มีรายได้ระดับบนๆเขาพ้นน้ำไปแล้ว คือมีรายได้มากกว่าตอนก่อนโควิดไปแล้วตั้งแต่กลางปีก่อนโน้น แต่คนที่รายได้ไม่มากมี 50% ที่จนถึงปัจจุบันนี้รายได้ยังไม่กลับมาเท่าก่อนโควิด ซึ่งตัวเหล่านี้ Policy Maker เขามักจะใช้คำว่า "ค่าเฉลี่ย" ก็คือโดยค่าเฉลี่ยแล้วพอไปได้...แต่ชีวิตจริงมันไม่มีค่าเฉลี่ย ชีวิตจริงมันคือ 'คนไหนโดน มัน 100%' 'คนนั้นไม่ โดนก็คือไม่โดน 0%' แล้วเอามันมาเฉลี่ยได้หรือเปล่า รายได้แตกต่างกัน เหลื่อมล้ำกัน มันสร้างปัญหาระหว่างคนผลิตรายได้ได้ กับคนที่ผลิตรายได้ไม่ได้"
ชี้รอบนี้แก้ยากกว่า "ต้มยำกุ้ง"
ขณะเดียวกัน ตอนนี้ประชากรไทยมีอยู่ 66 ล้านคน เป็นประชากรวัยทำงาน 44 ล้านคน มีหนี้และอยู่ในระบบเครดิตบูโร 32 ล้านคน เป็นหนี้เสีย 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เป็นหนี้เสียบ้าน 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 140,000 สัญญา คือ บ้าน 140,000 หลังคือบ้านที่ถูกยืดแล้ว หนี้รถยนต์มีหนี้เสีย 230,000 ล้านบาท คิดเป็น 749,800 สัญญา เพิ่มขึ้น 28% หนี้เสียเครดิตการ์ด 61,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการที่ธปท.ออกมาเพื่อบรรเทามีมากมาย แต่หนี้เสียก็ยังเพิ่ม
ในอีกทางหนึ่ง จะสังเกตได้ว่าทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการปรับโครงสร้างได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ ประเด็นหลักคือ การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์ทำได้น้อยเพราะมีเกณฑ์ กติกาว่า จะดูศักยภาพของลูกหนี้ว่าสามารถชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่ จะดูได้ยังไงว่าลูกหนี้เป็นลูกหนี้มีศักยภาพ ก็ดูที่รายได้...ด้วยเงื่อนไขที่ว่า แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าคนคนนี้จะมีรายได้ชำระหนี้ได้ตามสัญญา แล้วเก็บหลักฐานไว้รอการตรวจสอบ แล้วถามตัวเองกันดีกว่าว่า โลกหลังโควิดมานี่ใครมีรายได้ แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ...มันทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ยาก ขณะที่ฝั่งแบงก์รัฐ ยืดหยุ่นมากกว่าคือ หนึ่ง ลูกหนี้ยังไม่ตาย สอง ลูกหนี้ยังทำมาหากินอยู่ ยังมีแหล่งรายได้อยู่ ก็จะเห็นเงื่อนไขต่างกัน ทำให้ผลที่ได้ต่างกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น หนี้เสีย หนี้กำลังจะเสียตัวเลขขึ้น แต่ยอดปรับโครงสร้างหนี้ตัวเลขทรงตัว ขณะที่แบงก์รัฐแม้ปรับโครงสร้างหนี้ได้มาก แต่กำลังมีจะคลื่นใหม่จากหนี้บ้าน
"ที่น่าเป็นห่วงคือ รายงานกรมบังคับคดี มีตัวเลขสถาบันการเงินเป็นเจ้าหนี้และชนะคดีจำนวน 1,051,000 คดี ที่มีหมายบังคับคดีแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและยังไม่พ้นเวลาบังคับคดี โดยมีระยะเวลาบังคับคดีได้ใน 10 ปี มีสิทธิเรียกเอากับลูกหนี้ 15 ล้านล้านบาท แสดงว่าเรามีคนแพ้คดี 1.05 ล้านคดี คือ 1.05 ล้านครอบครัวที่กำลังจะโดนยึดทรัพย์สิน ยังมีคดีบัตรเครดิตอีก 3 แสนคดี และเป็นคดีบุคคลที่สันนิษฐานว่าเป็นหนี้นอกระบบอีก 7 พันคดี แล้วยังมีที่สถาบันการเงินชนะคดีหนี้อีก 2 แสนคดี และอยู่ระหว่างบังคับคดีอันนี้เป็นส่วนที่ค้างมาในช่วงโควิด มีสิทธิบังคับเอาทรัพย์สินอีก 367,000 ล้านบาท...ในบริบทที่จีดีพีประเทศเรา 17.8 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนไทย 16.2 ล้านล้านบาท ทุนทรัพย์ที่ถูกรอบังคับคดีอีก 15 ล้านล้านบาท นี่คือปัญหามั้ย ผมว่านี่คือน้องๆ ปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว"
ที่สำคัญการออกแบบในการแก้ปัญหาครั้งนี้ยากมาก เพราะว่ามันไม่เหมือนกรณีหนี้รายใหญ่ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นกองทุนการเงินระหว่างประเเทศ (IMF) บอกว่า มีแค่ 80 แฟมิลีในประเทศไทยที่ทำธุรกิจตั้งแต่ตะปูยันเรือรบ...แต่ตอนนี้คนที่เป็นหนี้เสีย 5 ล้านคน 5 ล้านลูกหนี้ ประมาณ 12 ล้านบัญชี แล้วมันต้องดีไซน์ทีละคน ความยากมันไม่ต่างกับวิ่งไล่ฉีดวัคซีนเลยนะ...
คาดหนี้ครัวเรือนปี 67 ที่ 90.7%
ชะลอกู้รอทิศทางดอกเบี้ย-เศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาที่ระดับ 16.4 ล้านล้านบาท เติบโต 3% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงมาที่ 91.3% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565 อย่างไรก็ดี ยังประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2567 อาจยังสูงกว่าระดับ 91.0% ต่อจีดีพีท่ามกลางการชำระคืนหนี้และการขยายตัวช้าของสินเชื่อปล่อยใหม่ ขณะที่แนวโน้มทั้งปี 2567 คาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นแตะระดับ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ตอกย้ำปัญหาด้านรายได้ไม่พอใช้จ่ายในระดับครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีอาจมีแนวโน้มชะลอลง หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวและหนี้สินภาคครัวเรือนเริ่มโตช้าลง แต่จะยังคงไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2567 นั้น คาดว่าหนี้ครัวเรือนอาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.0% เทียบกับที่เติบโต 3.0% ในปี 2566 โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี (ภายใต้สมมติฐาน Nominal GDP ปี 2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6%) ชะลอลงระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนในปี 2567 จะยังคงเติบโตต่ำกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งผู้กู้บางส่วนอาจเลื่อนการตัดสินใจเพื่อรอจังหวะการปรับทิศของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่สถาบันการเงินอาจประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ความสามารถในการชำระหนี้ และดูแลในเรื่องรายได้หลังชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ (ตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่มของผู้กู้ที่มีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้และกำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง
ขณะที่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ทางการเริ่มดำเนินการในหลายๆ ส่วน เช่น การแก้หนี้นอกระบบและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ กยศ. การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อย และการแก้หนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่เริ่มแล้วในวันที่ 1 เมษายน 2567 น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย แต่จะไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และต้องมีการแก้ไขปัญหาด้านรายได้และพฤติกรรมของครัวเรือน ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย