ดอยซ์แบงก์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี มองวิกฤตขาลงบิทคอยน์หากดิ่งร่วงอาจลงลึกไปถึง $20000 ในรอบนี้ โดยจะวนลูปราคากลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะขาลงเมื่อปี 2565 ซึ่งให้น้ำหนักในประเด็นหลักที่ทำให้ราคาบิทคอยน์ถอยหลังกลับไปคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กฎระเบียบเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี และปัญหาภายในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี
ดอยซ์แบงก์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในเดือน มี.ค. โดยระบุว่า ผู้บริโภคมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับราคาของบิทคอยน์ ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะร่วงหลุดระดับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ การปรับลดลงหลุดระดับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้น เท่ากับว่ามูลค่าบิทคอยน์จะหายไปประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาปัจจุบัน และหวนคืนสู่ระดับเดียวกับช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะขาลงเมื่อปี 2565
ขณะที่ในรายงานระบุว่าจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจมีเพียง 10% จากทั้งหมด 3,600 คน ที่คาดการณ์ว่าราคาบิทคอยน์จะสูงเหนือระดับ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ปีนี้
ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 40% เชื่อมั่นว่าบิทคอยน์จะเติบโตแข็งแกร่งในช่วงหลายปีข้างหน้า แต่ 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าบิทคอยน์จะหายไปจากโลกนี้ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึง 1% มองว่าบิทคอยน์ได้รับความนิยมเพียงชั่วขณะ
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บิทคอยน์ปรับตัวลดลง 1.4% แตะระดับ 70,700 ดอลลาร์สหรัฐ ณ เวลา 7.50 น.ของวันนี้ (9 เม.ย.) ตามเวลากรุงลอนดอน หรือ 13.50 น.ของวันนี้ตามเวลาไทย หลังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 73,798 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือน มี.ค. และปรับตัวขึ้น 67% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเหนือสินทรัพย์ดั้งเดิมอื่น ๆ เช่น หุ้นและทองคำ
อย่างไรก็ดีนักลงทุนบางส่วนแห่เข้าซื้อกองทุน Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นได้เพียง 3 เดือน ส่งผลให้ราคาบิทคอยน์พุ่งทะยานขึ้น และทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนคาดการณ์ว่าอุปสงค์คริปโต จะเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจารณ์มองว่าบิทคอยน์ไม่มีมูลค่าในตัวเองและเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการเก็งกำไรเท่านั้น
ทั้งนี้ประเด็นที่ด๊อยช์แบงก์ประเมินว่าจะส่งผลเชิงลบต่อราคาบิทคอยน์ได้แก่
1.ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย : โดยเฟดมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สิ่งนี้จะส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น บิทคอยน์ เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น พันธบัตร
2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว : เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง สงครามการค้า และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาบิทคอยน์
3.กฎระเบียบเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีที่จะปรับปรุงใหม่เพิ่มเติม : โดยหลายประเทศกำลังออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมคริปโตเคอร์เรนซี สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกดดันราคาบิทคอยน์
4.ปัญหาภายในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี : ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเอง ที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น การโจรกรรมทางไซเบอร์ และการฉ้อโกง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกดดันราคาบิทคอยน์
5. ความผันผวนของราคา : บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง ราคาสามารถขึ้นลงได้อย่างรุนแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยไม่มีมาตรการจำกัดความเสียหาย สิ่งนี้จึงกลายเป็นจุดบอดสำคัญ อาจทำให้การลงทุนในบิทคอยน์มีความเสี่ยงสูง