ครม.อนุมัติ 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาฯ ด้าน 7 องค์กรด้านอสังหาฯ เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาฯ จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ และธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมถึงภาคสถาบันการเงิน เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย ส่งผลบวกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจการลงทุน ส.อาคารชุดไทยคาดเปิดทางผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางซื้อที่อยู่อาศัย หนุนเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง คาดเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ กว่า 8 แสนล้านบาท จูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ได้กว่า 4-5 แสนล้านบาท ด้าน LPN ระบุมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ช่วยสร้างฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต คาดทุกๆ 1% ของการเติบโตภาคอสังหาฯ มีผลต่อการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 0.06% ขณะที่ ส.ธุรกิจรับสร้างบ้านมั่นใจมาตรการสร้างบ้านลดหย่อนภาษี ‘ล้านละหมื่น’ เพิ่มโอกาสมีบ้านง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (9 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยราคาประเมินไม่เกิน 7 ล้านบาท 2.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง โดยให้หักลดหย่อน 1 หมื่นบาทต่อทุกค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท รวมไม่เกิน 1 แสนบาท 3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อ 5.โครงการบ้าน BOI โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริม กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร และกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
7 องค์กรด้านอสังหาฯ ขอบคุณรัฐคลอดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ตามที่ 7 องค์กรด้านอสังหาฯ ได้ทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกอบกับทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รัฐบาลได้ออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านภาคธุรกิจอสังหาฯ ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรงนั้น ทั้ง 7 องค์กรต้องขอขอบพระคุณคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีและการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1.มาตรการเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองในการซื้อที่อยู่อาศัยจากระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทและปรับปรุงค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 1% เป็น 0.01%
โดยผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และมิใช่เป็นเพียงการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เท่านั้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่า 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสอง จะส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่างๆ จำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่งเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้นมาตรการดังกล่าว
2.มาตรการเรื่องการนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างบ้านมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนล้านละ 10,000 บาท และโดยรวมไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนก่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเองรัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ ในการก่อสร้างบ้านและผู้รับจ้างสร้างบ้านจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี) นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจรับสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น
3.มาตรการในการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลังจาก 1.5 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท
ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพราะสามารถที่จะขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้
4.เรื่องการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางโดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน.1.5 ล้านบาท
มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทสามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้
5.เรื่องการขยายระยะเวลาเช่าให้มีระยะเวลาเช่าเกินกว่า 30 ปี และกำหนดให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ (Real right) ภาคเอกชนมีความเห็นว่าประเด็นนี้ถือเป็นการวางโครงสร้างการอยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในระยะยาวของประเทศ
เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้น ความต้องการความมั่นคงเรื่องที่สิทธิการเช่าจึงต้องตามมาด้วย ในขณะเดียวกัน การขยายระยะเวลาเช่ายังเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าซึ่งเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ดินที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐหรือเป็นที่ดินของเอกชนที่ไม่ประสงค์จะขายที่ดินออกมาเพื่อการพัฒนา แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่า การขยายระยะเวลาเกินกว่า 30 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องระยะเวลาที่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการในทรัพย์สินที่เช่าตลอดช่วงอายุสัญญา พร้อมกับจะเป็นการแก้ปัญหาการถือครองอสังหาฯโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวต่างชาติด้วย
6.เรื่องการขอลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรร ได้แก่ ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแฝด จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา และที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา
ซึ่งการลดขนาดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรรลงมาจะมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและขนาดครอบครัวที่เล็กลง รวมถึงจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนได้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้นจากระดับราคาที่ลดลง ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 ที่ผ่านมา
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาฯ มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาดังกล่าว และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ และภาคสถาบันการเงินด้วย พร้อมกันนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป รวมถึงจะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนอื่นๆ
ส.อาคารชุดไทยเชื่อมาตรการรัฐหนุนศก.ขยายตัววงกว้าง
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย 1.ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯ จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1% เหลือ 0.01% และขยับระดับราคาเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 2.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ในจำนวนล้านละ 10,000 บาท ต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท โดยรวมไม่เกิน 100,000 บาทตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี 4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2,500,000 บาทขึ้นไป และ 5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI)
“ทั้ง 5 มาตรการที่ ครม.มีมติเห็นชอบออกมานั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ ได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท และมีการลงทุนในอสังหาฯ อีก 4-5 แสนล้านบาท และยังมีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่าย 1.2 แสนล้านบาท จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อีกประมาณ 1.7-1.8% โดยมาตรการที่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนคือ การเพิ่มเพดานราคาที่อยู่อาศัยจาก 3 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท และการลดค่าจดทะเบียนการโอน-การจดจำนอง เนื่องจากที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท มีสัดส่วนเกินกว่า 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสอง ส่งผลต่อการเร่งตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในสภาวะตลาดทรงตัวเช่นนี้ ตลอดจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย” นายพีระพงศ์ กล่าว
โดยมาตรการดังกล่าวจะนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่างๆ จำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ในรูปแบบของบ้าน BOI สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้
นายพีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม.มีมติเห็นชอบออกมานั้นจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของมาตรการที่เหลือที่ได้เคยนำเสนอไปพร้อมกันนั้น อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาความเป็นไปได้ต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย หากสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จริงเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
LPN ชี้ อสังหาฯ โต 1% มีผลต่อ GDP ขยายตัวไม่น้อยกว่า 0.06%
นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ให้ความเห็นถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจไทย จากผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2564 ระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างก่อสร้าง ภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณา และบริการให้เช่าที่อยู่อาศัยมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) มีการจ้างงานรวมไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านคน และมากกว่า 80% ของการพัฒนาโครงการทั้งหมดเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากภายในประเทศเป็นหลัก (ปี 2564 มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 801,241 ล้านบาท ขณะที่มูลค่า GDP ปี 2564 อยู่ที่ 16.16 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ในปี 2566 ข้อมูลการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ (Demand Side) มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น 1.016 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.67% ของ GDP ปี 2566 (มูลค่า GDP ปี 2566 อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท) เมื่อคำนวณผลทวีคูณจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 3 เท่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 ประมาณ 3.048 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของ GDP ในปี 2566
ดังนั้น การกระตุ้นภาคอสังหาฯ ไม่ใช่การช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ แต่เป็นการสร้างฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโต โดยประมาณการว่า ทุกๆ 1% ของการเติบโตของภาคอสังหาฯ จะมีผลต่อการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 0.06%
“ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ออกมาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อและมาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการสำหรับบ้านบีโอไอทำให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่ง LPN พร้อมสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างบ้านบีโอไอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยมีบ้าน” นายอภิชาติ กล่าว
ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน เชื่อช่วยเพิ่มโอกาสมีบ้านง่ายขึ้น
นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านมติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (9 เม.ย.) ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญต่อภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ โดยข้อเสนอที่ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยื่นขอไปได้ผ่านมติ ครม.เช่นกัน
โดยมาตรการนี้เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารอากรแสตมป์ (อ.ส.5) ที่มีมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาทโดยนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2568 ข้อดีจากมาตรการสร้างบ้านลดหย่อนภาษีได้ล้านละหมื่นเป็นการกระตุ้นผู้บริโภคที่วางแผนสร้างบ้านให้ตัดสินใจง่ายขึ้น
และเร็วขึ้น จากที่มีบางส่วนชะลอการตัดสินใจออกไป เพราะยังไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเท่าที่ควร รวมทั้งช่วยลดภาระผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง
“การนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในจำนวนล้านละ 10,000 บาท และโดยรวมไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีนี้มีผลดีที่รัฐบาลจะได้ VAT กลับไป 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ และผู้รับจ้างสร้างบ้านเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี)” นายโอฬาร กล่าว
นายโอฬาร กล่าวต่อว่า ภายหลังมาตรการสร้างบ้านลดหย่อนภาษีล้านละหมื่นมีผลบังคับใช้จะกระตุ้นให้ตลาดขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่กระตุ้นให้ตลาดรับสร้างบ้านที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท รวมทั้งส่งผลให้เศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้