วารสารการเงินธนาคาร ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2567 Bank of the Year 2024 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในรอบปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2566 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2567 มีกำไรสุทธิ 47,958.20 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ 26.52% สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ากำไรของธนาคารลดลง 11.5% เนื่องจากในปี 2565 ธนาคารมีกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และธุรกิจบัตรเครดิต และกำไรจากการขายบริษัทย่อยให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับงบกำไรขาดทุนปี 2565 ที่มีการปรับฐานใหม่ กำไรสุทธิปี 2566 ของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 10.7% จากปี 2565 จากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโต 137,400 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน ธนาคารยังคงมุ่งเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 30.93%
ด้านของความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 18.8% หรือ 443,680 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.7% หรือ 417,536 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ 1.1% หรือ 26,144 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) จำนวน 27,910.27 ล้านบาท จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 154.90%
สำหรับในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดแผนธุรกิจและเป้าหมายกลยุทธ์ “เพื่อเป็นธนาคารที่ดียิ่งขึ้น” (To Be A Better Bank) โดยมีความคาดหวังจะเป็นยูนิเวอร์แซลดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง และให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ดังนี้
วางกลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก” ด้วยการเป็น Universal Digital Bank ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า
สร้างสมดุลของพอร์ตการให้สินเชื่อ และการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้การควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม และการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีวินัย รวมทั้งให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน
ปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าจากปัจจุบันสู่อนาคต มีการเตรียมการที่จะยกระดับบริการของ Wealth Management โดยมองว่าธนาคารจะสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยการนำเสนอบริการแบบองค์รวม (Holistic) ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทั้งในด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ
ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร และเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการดำเนินงาน โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้า (Omnichannel) ทั้งในช่องทางดิจิทัลและช่องทางอื่นๆ ขณะเดียวกัน มุ่งปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง โดยขยายฐานลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) รวมถึงการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงจุดและรวดเร็ว
พัฒนาให้ก้าวไปสู่การเป็นธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนชนทุกกลุ่ม (Financial Inclusion) และให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing)