นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 36.45-37.00 บาท/ดอลลาร์ และส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (9 เม.ย.) ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.64 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันศุกร์ที่ 5 เมษายน) โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง (แกว่งตัวในกรอบ 36.56-36.82 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก จนทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้โซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์จากแรงขายทำกำไรเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ แม้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ จะออกมาแข็งแกร่ง จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดชดเชยในฝั่งไทยที่ผ่านมา เงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง แต่ยังไม่ผ่านโซนแนวต้าน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการแกว่งตัว sideways ของเงินดอลลาร์ และราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่ โดยคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป รวมถึงเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า เช่น ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของไทย และราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงวันพุธนี้ ซึ่งจะมีทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ ทว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุม กนง. รวมถึงรายละเอียดมาตรการ Digital Wallet และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ราคาพลังงาน รวมถึงสกุลเงินหลักฝั่งเอเชีย ทั้งเงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทพอสมควรในระยะนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และมีโอกาสที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้หากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ผลการประชุม ECB อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร (EUR) และเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน