xs
xsm
sm
md
lg

กกร.คงเป้าจีดีพีที่ 2.8-3.3% ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ย 2 รอบในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงผลการประชุมในเดือนเมษายน 2567 ระบุคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับ 2.8-3.3% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยภาพรวมตลาดคาดการณ์ กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ ซึ่งต้องรอดูว่าคณะกรรมการ กนง.จะพิจารณาปรับลดตั้งแต่รอบนี้หรือไม่ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นต้องส่งต่อมาถึงดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และกระทบถึง NIM รวมรายได้ของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบในช่วงดอกเบี้ยขาลง แต่อยากให้มองว่ากำไรของธนาคารไม่ได้มา NIM เพียงอย่างเดียว ต้องมองในภาพรวมเป็นหลักด้วย

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME นอกระบบ หรือกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลทางการเงินในการประเมินสินเชื่อ ซึ่งมีอยู่ถึง 50% นั้น ทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือกันแล้วมองว่า การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบนั้นต้องใช้เวลาไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น ดังนั้นจึงเสนอใช้การขยายสิทธิพิเศษทางภาษีอีก 5-10 ปี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SME เข้าสู่ระบบได้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

**ยันกรุงไทยยังไม่รุกต่างประเทศ รอยื่นตั้ง Virtual Bank**
นายผยง กล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยเอง ปัจจุบันยังไม่มีแผนที่จะรุกธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะโฟกัสในกลุ่มลูกค้าในประเทศ ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีจำนวนลูกค้าขนาดกลางและเล็กอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีข้อมูลในระบบที่ธนาคารสามารถนำมาประเมินสินเชื่อได้ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงอยากจะให้ความสำคัญในจุดนี้ก่อน

นอกจากนี้ ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอยื่นใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
กำลังโหลดความคิดเห็น