xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ปรับลดจีดีพีไทยโต 2.8% แนะพัฒนาศักยภาพหนุนเติบโตยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
ประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า รายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมษายน 2567 ได้ปรับลดประมาณจีดีพีของประเทศไทยมาที่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายนอกอันได้แก่ การชะลอตัวของการค้า รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ความล่าช้าของงบประมาณที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อที่ลดลงและติดลบนั้นเป็นผลจากการตรึงราคาพลังงานโดยมองว่าในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

**ดิจิทัล วอลเล็ตดันจีดีพี 1% เพิ่มหนี้กว่า 2%**
ทั้งนี้ การคาดการณ์จีดีพีไทยดังกล่าวไม่ได้รวมผลจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาลที่ประเมินว่าจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 1% กระจายไปในปีนี้และปีหน้าหากสามารถทำได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ตามที่รัฐบาลได้แถลง แต่นโยบายดังกล่าวมีต้นทุนทางการคลัง ซึ่งประเมินว่าจะเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะในสัดส่วนประมาณ 2% กว่า

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรเน้นพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน เช่น ด้านการศึกษาให้สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม การพัฒนาด้านนวัตกรรม-โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในอนาคต และรองรับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการพัฒนาเมืองรองต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการสร้างรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะรายได้ด้านบริการที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขณะที่สถานะทางการคลังเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนในการปรับฐานะทางการคลังให้สมดุลโดยเฉพาะการจัดหารายได้

"เราอาจจะให้ความสำคัญเป้าหมายการเติบโตที่เป็นตัวเลข แต่อีกจุดที่สำคัญเป็นเรื่องของการพัฒนา และการปฏิรูปในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน การปฏิรูปธุรกิจไปสู่สังคม low carbon เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีโอกาสเติบโตได้ถึง 5% ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้"

ด้านมานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2567 จะลดลงเหลือ 4.5% จาก 5.1% ในปีที่แล้ว โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยกเว้นจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในปี 2566 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า จีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางที่ 4.5% ซึ่งลดลงจาก 5.2% ในปี 2566 เนื่องจากการที่มีหนี้สูง, ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ และความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งล้วนแต่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีน ในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือ 3.6% ในปี 2567 จากเดิม 5.6% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาด ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิจิที่ 3.5% ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากอัตราการเติบโตที่สูงถึง 8% ในปีที่แล้ว

"ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเป็นอันมาก แม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่เพิ่มขึ้น, ประชากรสูงอายุ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถคงอัตราการเติบโตได้ด้วยการเร่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในภาคเอกชน, การแก้ปัญหาในภาคการเงิน และการส่งเสริมผลิตภาพให้เพิ่มสูงขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเสี่ยงขาลง (downside risks) เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้, การที่เขตเศรษฐกิจหลักยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับสูง, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น