หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ Sell in May and go away ที่เป็นปรากฏการณ์ทางฤดูกาลของตลาดหุ้นที่มีที่มาจากสำนวน “Sell in May and go away, come back on St. Leger’s Day” จากประเทศอังกฤษ ซึ่ง St.Leger Stakes เป็นงานแข่งม้าที่มีชื่อเสียงที่สุด จัดขึ้นในเดือน ก.ย. สำนวนนี้จึงเหมือนเป็นการบอกให้คนขายหุ้นในเดือน พ.ค. พักดูการแข่งม้า แล้วค่อยกลับไปลงทุนต่อในช่วง พ.ย. ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าตลาดหุ้นจะหดตัวลงตั้งแต่เดือน พ.ค. จนถึง ต.ค. อาจมีสาเหตุมาจากที่ช่วงฤดูร้อนนี้มีวันหยุดมาก ทำให้มี Volume การเทรดที่ต่ำ
จากตารางด้านบนที่แสดงข้อมูล SET Index ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. ถึงสิ้นเดือน ต.ค. 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามี 6 ปีที่ SET Index หดตัวลง ซึ่งหากว่ากันตามสถิติแล้ว ทฤษฎี Sell in May and go away พอเชื่อถือได้แต่ก็ไม่มากสักเท่าใดนัก
January Effect : คือขั้วตรงข้ามของ Sell in May and go away ซึ่งคาดกันว่าตลาดจะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนมกราคม อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ :
• มีการเทขายหุ้นที่ขาดทุนออกไปในเดือน ธ.ค. เพื่อลดการเสียภาษีจากการซื้อขายหุ้น
• พนักงานบริษัทได้รับโบนัสในเดือน ม.ค. แล้วนำมาลงทุนในหุ้น
• เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ ผู้คนจึงอยากเริ่มลงทุนเพื่ออนาคตที่ดี
• กองทุนเทขายหุ้นที่ไม่ดีออกจากพอร์ตโฟลิโอเพื่อให้พอร์ตดูดีแล้ว ก็เริ่มกลับมาเก็บหุ้นใหม่
การที่ผู้จัดการกองทุนทำการซื้อขายในช่วงใกล้เวลาสิ้นงวดเรียกว่า Window dressing เพื่อทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นหรือลดลงในระยะสั้นได้ จากเงินทุนจำนวนมหาศาลที่กองทุนทำการซื้อขาย ซึ่งหากเป็นการเทขายหุ้นที่กองทุนมองว่ามีผลการดำเนินงานไม่ดีออกไปพร้อมๆ กันหลายกองทุน ก็จะกดดัชนีตลาดให้หดตัวลง ซึ่งเหตุการณ์นี้มักจะเกิดในช่วงเดือน ธ.ค.ของทุกปี
ไม่มีใครทราบได้ว่าเหตุผลที่บอกไว้ข้างบนจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิด January effect หรือไม่ เราลองมาดูความเปลี่ยนแปลงของ SET Index ช่วงเดือน ม.ค. ย้อนกลับไป 10 ปีว่าเป็นอย่างไรได้จากตารางด้านล่าง
จากตารางจะเห็นว่ามี 7 ปี จากทั้งหมด 10 ปีที่ SET Index ในช่วงสิ้นเดือน ม.ค. มีการปรับตัวสูงกว่า ณ สิ้นปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าจำนวนปีที่ตลาดขยายตัวจะมีมากกว่าจำนวนปีที่ตลาดหดตัวลง แต่ในปี 2024 และ 2020 มีการปรับตัวลงถึง -3.6% และ -4.2% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และการระบาดของ COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่นเมื่อปี 2020 ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ดังกล่าวเข้ามารบกวนตลาด เป็นไปได้ว่า SET Index จะปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมองว่า January effect มีความน่าเชื่อถือดูจะสูงกว่า Sell in May
เราสามารถนำ Sell in May and go away และ January effect มาใช้ในการลงทุนได้หรือไม่? : ถ้าหากเราแค่ต้องการเก็งกำไรด้วยการซื้อหุ้น แล้วขายออกไป เพียงเพราะเชื่อในเรื่อง Sell in May and go away และ January effect อย่างเดียวโดยไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน หรือปัจจัยอื่นๆ ของหุ้นเลยนั้น เป็นสิ่งที่พอกระทำได้ในเชิงสถิติ เพราะจากสถิติมันบ่งชี้ว่าโอกาสชนะมากกว่าแพ้ (แม้จะไม่มาก) ดังนั้นเก็งกำไรได้ด้วยความไม่ประมาท เพราะอาจมีเหตุการณ์เซอร์ไพรส์เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ตลาดปรับตัวลงได้แรงเหมือนในปี 2020
อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำทั้งสองปรากฏการณ์มาใช้เป็นปัจจัยเสริมในการตัดสินใจซื้อหุ้นได้ หลังจากที่เราได้วิเคราะห์และพิจารณาหุ้นด้วยวิธีอื่นๆ อย่างรอบคอบแล้ว เช่น หากเราเป็นนักลงทุนปัจจัยพื้นฐาน เราก็จำเป็นที่จะต้องประเมินการเติบโต และราคาเหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวก่อน ซึ่งหากมองว่าเป็นจังหวะซื้อที่น่าสนใจในช่วงสิ้นปีพอดี เราอาจนำปัจจัยเรื่อง January effect มาเสริมได้ แต่ไม่ใช่การนำมาเป็นปัจจัยหลักในการใช้ตัดสินใจ
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้ง January effect และ Sell in May and go away สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยเสริมประกอบการตัดสินใจลงทุนได้
แต่สิ่งสำคัญคือการไม่นำมาเป็นหลักในการตัดสินใจลงทุน การวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม และการประเมินความเสี่ยงควรเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก
ที่มา : บล.ลิเบอเรเตอร์