xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.33-ติดตามอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(29มี.ค.67) ที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.65 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.41-36.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด) หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ โดยเฉพาะหากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ออกมาสูงกว่าคาด ย้ำความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะ Buy on Dip ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อยาก ยกเว้นจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยหนุนการแข็งค่า

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ (รายงานจะประกาศในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจากจะเป็นข้อมูลสำคัญที่เฟดใช้ประกอบการพิจารณานโยบายการเงิน โดยหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เร่งตัวสูงขึ้น (ออกมาสูงกว่าคาด) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการ ที่ไม่รวมค่าบ้านต่างๆ (Core Services ex. Housing) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย และอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ซึ่งในจังหวะการรายงานข้อมูลดังกล่าวนั้น จะอยู่ในช่วงปิดทำการของตลาดการเงินสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ปริมาณธุรกรรมอาจเบาบางและส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงได้ โดยความผันผวนสูงดังกล่าวอาจดำเนินต่อเนื่องไปถึงช่วงวันจันทร์สัปดาห์หน้าได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งประธานเฟด Jerome Powell และ Mary Daly ที่จะมาในช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE (ราว 22.20 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราต้องปรับมุมมองใหม่ต่อจุด Peak เงินบาทที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุเกินระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 36.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งอาจต้องรอลุ้นว่า เงินดอลลาร์จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้

โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง ประธานเฟด และ Mary Daly เริ่มมีความ hawkish มากขึ้น (เช่น ย้ำว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังดี และอัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยไปช่วงไตรมาส 3 และอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ในปีนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก กดดันทั้งราคาทองคำและเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าว อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าทดสอบระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ หรือสูงกว่านั้นได้ แต่ต้องระวังการเข้าแทรกแซงจากทางการญี่ปุ่น ซึ่งเราคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทางการญี่ปุ่นจะรอจังหวะตลาดการเงินสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทำการ เพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่โซน 150-151 เยนต่อดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งจะช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาตามคาด เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง ทำให้เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสทดสอบโซนแนวรับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นจากโซนดังกล่าวได้ง่ายนัก หากไม่มีปัจจัยหนุนอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ จะออกมาตามคาด ก็ยังคงต้องระวังความผันผวนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น