APO ปิดจองซื้อ IPO นักลงทุนให้การตอบรับดี ขายหมดเกลี้ยง 100 ล้านหุ้น เตรียมลงสนามเทรด mai 2 เม.ย. นี้ พร้อมเดินหน้าลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต APM เผยศักยภาพเติบโตสูงหลังระดมทุน KFS มั่นใจหุ้นพื้นฐานดี
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ที่ปรึกษาการเงิน บมจ.เอเชียนน้ำมันปาล์ม (APO) เปิดเผยว่า APO จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรก 2 เม.ย. หมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) หลังจากเปิดขายหุ้น IPO จำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.99 บาท ในช่วง 25-27 มี.ค.ครบถ้วน
หุ้น APO ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทศึกษาพัฒนาธุรกิจให้ทันสมัย มีความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งมีความพร้อมในการเติบโต ประกอบกับ ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่มีการส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ การนำน้ำมันปาล์มดิบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น
นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บล.คิงส์ฟอร์ด (KFS) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ APO กล่าวว่า APO จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายในตลาด mai เนื่องจากราคาเสนอขายมีความเหมาะสมเมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการดำเนินงานของบริษัท ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดยราคาหุ้นละ 0.99 บาท พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) เท่ากับ 1.00 เท่า ขณะที่หากพิจารณาเฉพาะคู่แข่งทางตรงมีเพียง UVAN VPO และ UPOIC ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกับบริษัท ซึ่งมี P/BV เฉลี่ยอยู่ที่ 1.55 เท่า
นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APO กล่าววา การระดมทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายศักยภาพการดำเนินงาน เพื่อสร้างการเติบโตตามแผนการดำเนินงานที่ได้วางไว้ โดยบริษัทมีแผนปรับปรุงกระบวนการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรหม้อนึ่งจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพดี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดต้นทุนในระบบผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนเงินระดมทุนที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยายธุรกิจ รองรับความต้องการน้ำมันปาล์มดิบ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการทำกำไร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต" นายสิทธิภาส กล่าว
ขณะที่ 4 โบรกเกอร์ ได้แก่ KFS, บล.บียอนด์ (BYD) บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) และ บล.กรุงศรี พัฒนสิน (KCS) ซึ่งร่วมกันจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ APO ให้กรอบราคาเหมาะสมหุ้น APO ในช่วง 1.10-1.64 บาท
มุมมองของบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ 4 แห่ง มองภาพรวมการเติบโตของ APO ไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบค่อนข้างมีความผันผวนตามปัจจัยแวดล้อม แต่ APO วางแผนธุรกิจทำการตลาดเชิงรุกเพื่อขยายฐานลูกค้าให้หลากหลาย พร้อมวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรระยะยาว รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยหนุนผลประกอบการในอนาคต
BYD ระบุว่ากำไรปี 66 ของ APO ลดลง 53% เป็น 13 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบเอลนีโญ ก่อนกลับมาเติบโตดีในปี 67 ประมาณ 321% เป็น 56 ล้านบาท ปัจจัยหนุนจาก 1. รายได้จากธุรกิจหลักกลับมาเติบโตดีตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลก 2. รายได้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นตามกำลังการผลิตเพิ่มจาก 400 KW เป็น 1 MW 3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A to sales) มีแนวโน้มลดลงจาก 3.9% ในปี 65 เป็น 2.9-3.0% ในปี 67-68 และ 4) ภาษีจ่ายที่ลดลงจากการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ให้ราคาเหมาะสม 1.64 บาทต่อหุ้น อิง PER ปี 67 ที่ 10 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มน้ำมันปาล์มในตลาด
KTX ระบุว่า แผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะช่วยเพิ่มความสามารถการทำกำไรของ APO คาดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 66-69 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 21.5% ต่อปี เงิน IPO มีแผนนำไปใช้ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรผลิตคาดแล้วเสร็จปี 68 จะช่วยลดอัตราสูญเสียของวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มความสามารถทำกำไร คาดกำไรสุทธิของ APO จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 32.6% ต่อปี จากการเร่งตัวของปริมาณจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ APO ที่ 1.50 บาท ด้วยวิธี Earnings Yield อิงประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 67 อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง 8% ระดับราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ PER ปี 67 ที่ 12.5 เท่า
KFS วิเคราะห์ว่า APO จะนำเงิน IPO ลงทุนพัฒนาระบบการนึ่งแบบ Automation Phase 1 และ 2 จำนวน 68 ล้านบาท ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ลดการสูญเสีย และลดต้นทุนการผลิต คาดเริ่มดำเนินการครึ่งหลังปี 67 แล้วเสร็จช่วงครึ่งแรกปี 68 ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการต่อไป กำไรสุทธิปี 66 อยู่ที่ 13.93 ล้านบาท ลดลง 50.69% จากความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มดิบกับราคาทะลายปาล์มสดบางช่วงเวลา ก่อนจะกลับมาเติบโตต่อเนื่องเป็น 41.48 ล้านบาท และ 60.36 ล้านบาท ในปี 67-68 หรือเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปี 108.2%
ประเมินมูลค่าเหมาะสมหุ้น APO ปี 67 อิง PER 11.50 เท่า อยู่ที่ 1.40 บาท โดยเลือกใช้วิธี P/E ในการประเมินมูลค่าเหมาะสม เปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจคล้ายกันในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ CPI LST UPOIC และ UVAN มีค่าเฉลี่ย PER ของ Peer ย้อนหลัง 3 ปีที่ 8.8 เท่า แต่จากแนวโน้มกำไรต่อหุ้นของ APO มีโอกาสเติบโตอัตราสูงกว่ากลุ่ม ด้วยสาเหตุหลักจากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน จึงประเมินมูลค่าโดยใช้ PER Multiple ที่ระดับ 11.50 เท่ำ (+1SD ของ Peer)
KCS มองอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีทิศทางขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐวางแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มน้ำมันทั้งระบบ คาดปี 67 จะมีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% เนื่องจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น รวมถึงรายได้ขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การจัดหาผลปาล์มที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น 14% นอกจากนี้การจัดหาปาล์มผ่านโครงการ Asian Plus+ ที่ให้ราคาผลปาล์มสูงกว่าตลาดสำหรับผลปาล์มที่มีคุณภาพสูงและให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ส่งผลให้ปริมาณการขายเพิ่ม 16% ขณะที่ราคาขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลให้ยอดขายเพิ่ม 25% ด้านโรงไฟฟ้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 400 KW เป็น 1 MW ตั้งแต่ไตรมาส 4/23 ทำให้คาดว่ารายได้ค่าไฟจะเพิ่มจาก 6 ล้านบาทในปี 66 เป็น 22 ล้านบาทในปี 67
ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ APO ปี 67 ที่ 1.10 บาท ด้วย P/E เป้าหมาย 10 เท่า (10% สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มน้ำมันปาล์มที่ 9 เท่า) ภายใต้แนวโน้มกำไรสุทธิฟื้นโต 112% และ EPS หลังเพิ่มทุนเติบโต 81% ในปี 67 เพราะคาดปริมาณและราคาขายน้ำมันปาล์มเติบโต รวมทั้งโรงไฟฟ้าขยายกำลังผลิต หากปริมาณและราคาขายน้ำมันปาล์มปีนี้สูงกว่าสมมติฐานจะทำให้ประมาณการและราคาเป้าหมายสูงกว่าคาดการณ์เดิม