นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เตรียมนำเสนอแพกเกจมาตรการเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวม 5 โครงการ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณต้นเดือน เม.ย.นี้ ประกอบด้วย
1.สินเชื่อตามโครงการ IGNITE THAILAND ที่เป็นความช่วยเหลือใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มอาหาร
2.สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
3.สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
4.สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ
5.สินเชื่อเพื่อการเริ่มต้นส่งออก
พร้อมมั่นใจว่าสินเชื่อที่เตรียมไว้นี้จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนให้เพิ่มขึ้นได้ "รายละเอียด และวงเงินของแต่ละมาตรการจะต้องรอให้ผ่านที่ประชุม ครม.ก่อน คาดว่าจะเสนอเป็นแพกเกจให้ ครม.พิจารณาได้ประมาณต้นเดือน เม.ย. ซึ่งแต่ละมาตรการจะมีทั้งการลดดอกเบี้ย พักหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการลดภาระให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้มีเม็ดเงินเหลือใช้ในการครองชีพมากขึ้น แม้จะไม่มากแต่ก็เหมือนช่วยต่อลมหายใจ และยังช่วยกระตุ้นการลงทุน การบริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ นี่เป็นมาตรการทางการคลังที่จะต้องทำคู่กับมาตรการทางการเงิน ก็หวังว่าภาคการเงินจะมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในเร็วๆ นี้" โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
นายพรชัย มองว่าสถานการณ์ลูกหนี้จัดชั้นประเภทกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ขณะนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยภาพรวมทั้งระบบยังอยู่ที่ประมาณ 5% ขณะที่พบว่าบางธนาคารอยู่ในระดับสูง 7% กว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจนกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของประชาชน โดยขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ได้ออกมาเริ่มดำเนินการตรึง/ลดดอกเบี้ยก่อน เพื่อเป็นการรับภาระบางส่วนให้พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์หนี้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำลูกหนี้กลับเข้ามาสู่การเตรียมตัวปรับโครงสร้างหนี้ และการเข้าสู่แผนฟื้นฟู รวมทั้งการดูแลให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามกฎกติกาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการติดตามคุณภาพสินเชื่อ และคุณภาพของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้ SM อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้