นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยทเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.05 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.91-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (ตามที่เราประเมินไว้) ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้นกว่า +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ขึ้นของทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านสำคัญ (Triple Tops) 36.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC อาจสะท้อนว่าเงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าอาจจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟดในการประชุมเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ตามบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เรามองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ และผลการประชุม BOE ที่อาจทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ หาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในปีนี้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราคาดว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ตามเดิม ทว่า มีโอกาสที่ BOE จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งหาก BOE มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการลดดอกเบี้ยอาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยจะขึ้นกับการส่งสัญญาณว่า BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่ ช้า หรือเร็วกว่าเฟด