xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เข้มมาตรการ "ปิดจบหนี้เรื้อรัง" เริ่ม 1เม.ย.หวังแก้หนี้กว่า 6 แสนบัญชี มูลหนี้กว่า 1.8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เริ่มมาตรการ “ปิดจบหนี้เรื้อรัง” 1 เมษายน 2567 เร่งสถาบันการเงินสรุปตัวเลขลูกค้าเข้าเกณฑ์สิ้นเดือนนี้ คาดมีจำนวน 6 แสนบัญชี เฉลี่ยบัญชีละไม่เกิน 100,000-20,000 บาท จะมีมูลหนี้เข้ามาตรการปิดจบได้ประมาณ 12,000-18,000 ล้านบาท พร้อมตรวจสอบและประเมินสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.กว่า 100 แห่งให้ใช้มาตรการอย่างเข้มงวด

น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท. ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67 ซึ่งเป็นการยกระดับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน จากการขอความร่วมมือ เป็นกำหนดให้สถาบันการเงินต้องดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งบางส่วนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีปัญหาชำระหนี้ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย (non-NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อย (ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านภายใน 3 ปีแรก)

โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.67 ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ย โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรัง คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน ซึ่งแบ่งได้
เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือนเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติมและพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้

2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล SMS mobile application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเองสามารถติดต่อสาขา หรือ call center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้

อย่างไรก็ดี มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังจะเน้นช่วยลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่จ่ายขั้นต่ำมานาน ซึ่งมีความตั้งใจจะปิดจบหนี้ และสมัครใจในการเข้าร่วมมาตรการ สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible Lending หรือแนวทางอื่นๆ ภายใต้การแก้หนี้อย่างยั่งยืนของ ธปท.

ธปท. จะกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิด ติดตามและผลักดันให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือที่ทันการณ์ เหมาะสม และได้รับบริการที่เป็นธรรม โดยในเดือน มี.ค.67 จะเข้าตรวจสอบปูพรมผู้ให้บริการผ่านการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง (ongoing supervision) โดยประมาณคร่าวๆลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีประมาณ 600,000 บัญชี เฉลี่ยมูลหนี้บัญชีละ 10,000 -20,000 ล้านบาท ดังนั้นคิดเป็นมูลหนี้ที่เข้ามาตรการประมาณ 12,000-18,000 ล้านบาท

สำหรับการกำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล ธปท.นั้น ทุกแห่งต้องเข้ามาตรการ และ ธปท.จะเข้มงวดในการตรวจสอบการปรับโครงสร้างหนี้ว่าผู้ให้บริการได้เข้าช่วยเหลือแก้หนี้จริง รวมถึงคุณภาพของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การให้ข้อมูลการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง ทั้งเรื่องการแจ้งเตือนลูกหนี้ และติดตามตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องของการคิดค่าธรรมเนียม เช่น prepayment fee ทั้งนี้ หาก ธปท. ตรวจสอบพบประเด็นสำคัญ จะสั่งการให้ผู้ให้บริการแก้ไขทันที และพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น