xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ร่วมเป็นสมาชิกฟอรัม "เปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกฟอรัม TNFD อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำและส่งสัญญาณให้บริษัทจดทะเบียน และผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญถึงความเสี่ยงต่อธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากการดำเนินการของตน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมเป็นสมาชิกฟอรัมของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (TNFD forum member) เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำปัจจัยด้านความเสี่ยงต่อธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผนวกกับเป้าหมาย กลยุทธ์ และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ พร้อมเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล ช่วยยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกฟอรัม TNFD อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอันดับที่ 2 ของโลก และอันดับแรกของเอเชียที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฟอรัม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำและส่งสัญญาณให้บริษัทจดทะเบียน และผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญถึงความเสี่ยงต่อธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากการดำเนินการของตน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 15 คือ ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดินและหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับ TNFD ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง 40 รายจากสถาบันการเงิน บริษัท และผู้ให้บริการในตลาด (Market Service Providers) เช่น บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 20.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในกว่า 180 ประเทศ

แนวทางของ TNFD ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่

(1) เปิดเผยการกำกับดูแลขององค์กรเกี่ยวกับการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาส (governance)

(2) เปิดเผยผลกระทบของการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสต่อรูปแบบธุรกิจ กลยุทธ์ และการวางแผนทางการเงินขององค์กร ในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ (strategy)

(3) อธิบายกระบวนการที่องค์กรใช้เพื่อระบุ ประเมิน จัดลำดับความสำคัญ และติดตามการพึ่งพา ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (risk and impact management)

และ (4) เปิดเผยตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินและจัดการการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับลักษณะวัสดุ (metrics and targets)

โดย TNFD มีการตีพิมพ์เอกสารคำแนะนำออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2566 เพื่อช่วยให้การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและการรายงานที่เกี่ยวข้องขององค์กรสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กรอบการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวใช้แนวทาง 4 หลักการ ซึ่งมีโครงสร้างเกี่ยวกับวิธีการที่องค์กรต่างๆ ดำเนินงาน ได้แก่ การกำกับดูแล กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงและผลกระทบ และตัวชี้วัดและเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี การพัฒนาภาคเศรษฐกิจและการเงินจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง เกษตรกรรม และอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่ารวมกันกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก WEF และ PwC ณ ปี 2563) นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงการสูญเสียทางระบบนิเวศสูงกว่า ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง TNFD เป็นหนึ่งในกรอบการทำงานสากลที่หลากหลายและชุดคำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพที่องค์กรหรือหน่วยงาน ซึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้

ทั้งนี้ การนำคำแนะนำของ TNFD ไปพิจารณาปรับใช้ จะช่วยให้บริษัทต่างๆ จะสามารถวิเคราะห์และวางกลยุทธ์เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อมๆ กับการให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน โดยคำแนะนำของ TNFD มีโครงสร้างที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และทำให้บริษัทมีทางเลือกที่จะเริ่มปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ หรือเริ่มต้นวิเคราะห์การกระทำที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถใช้คำแนะนำเหล่านี้ประกอบกระบวนการตัดสินใจ โดยจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัจจุบันมีองค์กรร่วมเป็นสมาชิกฟอรัมของ Task Force on Nature-Related Financial Disclosures (TNFD) กว่า 1,400 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์กรในประเทศไทยเป็นสมาชิกทั้งหมด 10 แห่งรวมถึง ก.ล.ต. สามารถดูรายชื่อของบริษัทและหน่วยงานในไทยสมาชิกฟอรัมของ TNFD ได้ที่ https://tnfd.global/engage/tnfd


กำลังโหลดความคิดเห็น