xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.40 รอรายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 มี.ค.) ที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.25-35.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.37-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวนด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างระมัดระวังตัวมากขึ้นก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย) อนึ่ง เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศ หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 3.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของพลังงานและอาหารสด อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.7% เปิดโอกาสให้เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้างในปีนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบใกล้ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้างตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น นอกจากนี้ แรงขายหุ้นไทยอาจยังมีอยู่บ้างตามบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง เราคาดว่าก่อนจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทอาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล ยกเว้นว่าในช่วงรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ราว 14.00 น. เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) จะผันผวนอ่อนค่าหนัก หากยอดการจ้างงานอังกฤษ หรืออัตราการเติบโตของค่าจ้างออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่

และที่สำคัญควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. เพราะหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง (ต้องจับตาทั้งข้อมูล %y/y และ %m/m หรือ โมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงรายเดือน) อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดได้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 35.65 บาทต่อดอลลาร์

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรืออาจชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่าอาจไม่ได้ช่วยให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงไปมากกว่าระดับปัจจุบันมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ราว 3-4 ครั้งไปมากแล้ว ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น