การใช้มาตรการทางแพ่งลงโทษปรับแก๊งปั่นหุ้นบริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ STAR สร้างความปั่นป่วนให้บริษัทหลักทรัพย์ บียอร์น จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เพราะมีชื่อติดอยู่ 1 ใน 15 ผู้ร่วมขบวนการปั่น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษปรับอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ STAR พร้อมพวกรวม 15 คน ในความผิดสร้างราคาหุ้น โดยโยนคำสั่งซื้อขายหุ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น ซึ่งพฤติกรรมความผิดเกิดขึ้นเมื่อปี 2561
รายชื่อผู้กระทำผิด นอกจากมีอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ STAR ยังมีนายประพล มิลินทจินดา อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น BYD และ BYD รวมอยู่ด้วย
นายประพล ถูกลงโทษการปั่นหุ้นในหลายคดี จนเข้าข่ายนักปั่นหุ้นมืออาชีพหรือมีอาชีพปั่นหุ้น โดยคดีปั่นหุ้น STAR ก.ล.ต.เรียกชำระค่าปรับจำนวน 1.12 ล้านบาท ซึ่งหากยอมจ่ายค่าปรับคดีก็ปิดฉาก
ส่วน BYD ถูกลงโทษปรับมากที่สุดในจำนวนผู้ร่วมขบวนการปั่นทั้ง 15 ราย โดยต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 18.72 ล้านบาท จากจำนวนค่าปรับของผู้กระทำผิดทั้งหมดรวม 65.17 ล้านบาท
ฝ่ายบริหาร BYD ส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรมในทันที เพราะ BYD ไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ จากความผิดที่เกิดขึ้นในอดีต หรือไม่ควรต้องจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต. จำนวน 18.72 ล้านบาท
เพราะโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างการบริหาร รวมทั้งชื่อบริษัทได้เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 โดยกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท
ผู้บริหาร BYD ชุดปัจจุบันไม่มีความเกี่ยวพันกับการปั่นหุ้น STAR ซึ่งเปลี่ยนชื่อฟอกบริษัทใหม่ เป็นบริษัท สตาร์ สิทธิ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSS
ก.ล.ต.ควรจะตามไปปรับอดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์เออีซีหรือไม่? ยังเป็นคำถามอยู่
และ BYD จะต้องจ่ายค่าปรับตามที่ ก.ล.ต. เรียกหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียง เพราะในฐานะนิติบุคคล BYD ต้องรับผิดความผิดที่เกิดขึ้นในอดีต
ต้นเหตุความสับสนอลหม่านค่าปรับ BYD ก.ล.ต.มีส่วนร่วมด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าสรุปคดีปั่นหุ้น STAR ได้ภายในเวลารวดเร็ว ปัญหาคงไม่เกิด แต่ ก.ล.ต. ใช้เวลาถึง 6 ปี จึงสรุปคดี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป จนไม่รู้ว่า ก.ล.ต. งมโข่งอะไรอยู่ ทำไมจึงทำงานอืดอาดล่าช้า
เพราะคดีปั่นหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE คดีแต่งบัญชีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็กล่าวโทษได้
แต่คดีปั่นหุ้น STAR ทำไมถูกดองจนเน่าใน ก.ล.ต. ถึง 6 ปี
BYD จะต้องจ่ายในความผิดที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ชุดใหม่ไม่ได้ทำหรือไม่ ก.ล.ต.จะต้องพิจารณาทบทวนกันอีกครั้ง ตามเสียงร้องเรียนของความเป็นธรรม
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือ หุ้น BYD ซึ่งกำลังกลับสู่แนวโน้มที่ดี ราคาเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากทรุดลงไปเหลือ 3.48 บาท ก่อนจะดีดตัวขึ้นแรง 2 วันติด จนมาปิดที่ 4.22 บาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา
และหลัง ก.ล.ต.ประกาศลงโทษปรับแก๊งปั่นหุ้น STAR และมีชื่อ BYD ติดร่างแหไปด้วย นักลงทุนจึงชิงเผ่นเทขายหุ้น BYD ทันทีในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา จนราคาหุ้นเสียศูนย์ รูดลงมาปิดที่ 4.08 บาท ลดลง 14 สตางค์
ลูกหลงจากแก๊งปั่นหุ้น STAR น่าจะทำให้ฝ่ายบริหาร BYD หงุดหงิดไม่น้อย เพราะทำไมต้องจ่ายในความผิดที่ไม้ได้ก่อ
และหุ้น BYD ทรุดหนักมาตั้งนาน เพิ่งจะเริ่มโงหัวใหม่ กลับเจอข่าวร้ายถล่มจนต้องถอยลงไปตังหลักใหม่
นักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้น BYD ไว้กลายเป็นผู้รับเคราะห์จากลูกหลงคดีปั่นหุ้น STAR