สำนักงาน ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์คุมมาตรการคุม ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้ไตรมาส Q3 นี้ หวังยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) คาดจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องและเตรียมความพร้อมเรื่องระบบต่างๆ ภายในช่วงไตรมาส 2/2567 และคาดจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 3/2567
โดยเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาเห็นชอบในหลักการณ์แล้ว ซึ่งก็จะมีการดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องในลำดับถัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกมาตรการที่ออกไปจะมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากยังไม่บรรลุผลก็สามารถปรับระดับเกณฑ์เพิ่มขึ้นได้ อาทิ เกณฑ์บริษัทที่เข้าข่าย Short Selling ได้ ซึ่งอาจมีการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) จาก 7,000 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 10,000 ล้านบาทได้ เป็นต้น
ขณะเรื่องการแก้กฎหมายหลักทรัพย์ฯเพื่อเพิ่มการเอาผิดกับผู้ลงทุนโดยตรงที่ทำ Naked Short Selling นั้น คาดการดำเนินการเรื่องแก้กฎหมายอาจต้องใช้เวลา แต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะเร่งรัดเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ
ด้าน ตลท. ก็เพิ่มอัตราโทษบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ อาทิ กรณีพบ Naked Short Selling จะปรับ 3 เท่าของกำไร (ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท) หรือกรณีการทำธุรกรรม Short Selling ไม่ทำตามเกณฑ์จะปรับไม่เกิน 0.3 ล้านบาท/ครั้ง
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายหรือ พรบ.หลักทรัพย์ฯเพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจสอบสวนและคุ้มครองพยานได้เอง โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าอาจจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และระหว่างนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้ประสานงานกับตำรวจและอัยการเพื่อให้กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดกระชับและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
นางพรอนงค์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling เพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ โดยเพิ่มมาร์เก็ตแคป และเกณฑ์สภาพคล่องของหุ้น เพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำจากเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท
สรุปมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading)
โดย เป้าหมายแรกคือ เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย โดยเพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถ Short Selling (Eligible Securities) เพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ โดยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) และเกณฑ์สภาพคล่องของหุ้น (turnover)
รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เช่น เพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้นา รวมถึงกำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักททรัพย์รายวัน เป็นต้น
สำหรับ เป้าหมายที่สองคือ ป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ Naked Short Selling โดยเพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบของตัวกลาง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ จะต้องทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า กรณีลูกค้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้ลูกค้าทราบ-เข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม ตามตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมถึงพัฒนาระบบกลางให้ บล.ตรวจสอบหลักทรัพย์ได้ และยังเพิ่มอัตราโทษ บล.ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังแก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดตลอดสาย ลงโทษ-บังคับใช้กฎหมายกับผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์ขายชอร์ตและสร้างกลไกที่ทำให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สินในฐานะ Gatekeeper
ส่วนแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง เพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม ซึ่งจะดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ ทบทวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้
ขณะเดียวกัน ยังควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยใช้กลไกการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน นอกเหนือจากเกณฑ์ราคาสูงสุด-ต่ำสุด โดยพักการซื้อขายชั่วคราวถ้าหุ้นมีราคาขึ้นหรือลง 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด ใช้วิธีการซื้อขายแบบประมูล กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย รวมถึงผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะทบทวนเกณฑ์การดำเนินการกับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ตลท.เปิดเผยรายชื่อลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด
นางพรอนงค์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้หารือ กับ ตลท. เพื่อตรวจสอบรายการต้องสงสัย และทบทวนมาตรการกำกับดูแล Short Selling และ Program Tradin โดยตรวจสอบพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็น Naked Short Selling (ขายมากกว่าซื้อ หรือส่งมอบหุ้นที่ได้จากการยืมหลักทรัพย์โดยไม่บันทึกรายการขายชอร์ต (flag S) ในระบบซื้อขายของ ตลท. ตามเกณฑ์ของ SET) โดยอยู่ระหว่างให้ บล. ชี้แจง และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ศึกษาวิจัยข้อมูลเพิ่มเติม พบพฤติกรรมการซื้อขายที่อาจมีลักษณะไม่เหมาะสม และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม
อีกทั้งร่วมกับ ตลท. สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) บล. และชมรม custodian เพิ่มความรัดกุมในการทำหน้าที่ของ บล. เกี่ยวกับธุรกรรม Short Selling และการใช้ Program Trading ของลูกค้า