xs
xsm
sm
md
lg

พายุ “MGI” แค่อ่อนกำลัง เชื่อโดดเข้ารับอาจมีความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ "มิสแกรนด์ อินเตอร์ฯ" ลดความร้อนแรงจากพายุไซโคลน เหลือแค่ระดับดีเปรสชัน วงการเตือนอย่างประมาทเหตุราคายังแรงกว่าพื้นฐานหลายเท่า ย้ำความเสี่ยงยังมี หลังสะสมแรงคาดหวังมากกว่าความเป็นจริงมาสุดโต่ง ชี้มาตรการปรามหุ้นร้อน ตลท.ต้องมีมากกว่านี้ หวั่นอาจกลายเป็นจุดจบหรือหายนะของนักลงทุนครั้งใหญ่ และรุนแรงยิ่งกว่าการแต่งบัญชีของ STARK

ดูท่าความเฮี้ยนของราคาหุ้น บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI จะเริ่มซาลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อราคาหุ้นที่เคยพุ่งสุดโต่งจากความคาดหวังต่ออนาคตก้าวไกลของคอนเซ็ปต์ "ยูนิคอร์น" ตัวใหม่แห่งวงการเบาบางลง เมื่อนักลงทุนเริ่มกริ่งเกรงว่าฝันอาจจะไม่เป็นจริงในเร็ววัน จนทำให้เม็ดเงินที่ถั่งโถมเข้าสู่ MGI ลดลงความร้อนแรงลงไปด้วย หรืออาจเป็นเพราะกลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการพยายามดันราคาหุ้น เริ่มหวาดกลัวต่อผลแห่งกรรมที่จะตามมา จึงยอมลดบทบาท เพื่อเตรียมตัวถอยฉาก

สถานการณ์ของ MGI ณ เวลานี้ เริ่มมีเสียงเชียร์เข้าซื้อเพื่อรอรับการกลับขึ้นขึ้นอีกครั้งของราคาหุ้น หลังร่วงลงมา ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็นเพียงแค่การปรับฐานของราคา แต่ในความเป็นจริงการอ่อนกำลังลดสถานะลงจากพายุไซโคลน เป็นพายุดีเปรสชันของหุ้น MGI ก็ยังคงเป็นพายุที่มีโอกาสจะสร้างความเสียหายได้อยู่ ราคาหุ้นปัจจุบันแม้จะลดลงไปมาก แต่ MGI ยังไม่ได้กลายสภาพเป็นร่องความกดอากาศต่ำ หรือราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้นไม่แปลกที่จะยังมีการเตือนนักลงทุนจากบรรดานักวิเคราะห์ หรือผู้สันทัดกรณีที่หวังดี 

โดยฟากผู้บริหาร หากดำเนินธุรกิจที่ด้วยใจมุ่งมั่น การที่ราคาหุ้นทยอยลดกำลังลงดังลมมรสุม ก็ไม่ใช่เรื่องที่โอดโอย เพราะหากธุรกิจแข็งแกร่งและดีจริงจะอย่างเสียราคาหุ้นย่อมฟื้นตัวกลับ โดยตัวชี้วัดที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนหนีไม่ผลตัวเลขพ้นประกอบการ

ราคาปัจจุบันยังไม่จริง

ภาพรวมการเคลื่อนไหวของหุ้น MGI ในปัจจุบัน (8 มี.ค.) ราคาปิดที่ 36.25 บาท/หุ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับจุดสูงสุดของราคาหุ้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 ซึ่งปิดที่ระดับ 65.25 บาท/หุ้น พบว่าราคาหุ้นลดลงหรือหายไปแล้ว ลดลง 29 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 36.25 หรือลดลงประมาณ 80%

แต่หากพิจารณาจากราคาหุ้น IPO ที่เริ่มเข้าซื้อขายวันแรก (14 ธ.ค.66) ที่ระดับ 4.95 บาท/หุ้น กับราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน (8 มี.ค.) ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่เริ่มซื้อขาย การที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจากราคา IPO ถึง 31.30 บาท/หุ้น หรือ 632.32% ถือว่ายังไม่ใช่เรื่องปกติเท่าใด ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ายังจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักระยะราคาหุ้นถึงจะเข้าสู่ระดับที่ควรจะเป็น

นั่นเพราะขนาดของธุรกิจ และแผน ยังเป็นคำถามในใจนักลงทุนว่าเป้าหมายของความสำเร็จยังไม่น่าถึงขั้นจะผลักดันให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ขนาดนี้ แล้วทำไมคนที่เข้ามาซื้อหุ้นถึงเชื่อว่า ธุรกิจนั้นเปล่งปลั่งมีออร่า เพราะเมื่อพิจารณาจาก P/E ที่ระดับ 63 เท่า และเคยไต่ระดับไปถึง 80 เท่าในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า นักลงทุนที่มีสไตล์แบบปัจจัยพื้นฐานส่วนมากจะเลือกหลีกเลี่ยงกับสถานการณ์แบบนี้ นั่นยิ่งทำให้ฝ่ายที่มองลบเชื่อว่าแรงคาดหวังของผู้ถือหุ้นต่อ MGI ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีมากกว่าความเป็นจริง

ขณะที่สถานการณ์ในตอนนี้ การที่ราคาหุ้น MGI ปรับตัวลงมา เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสำหรับหุ้นร้อนแรง เนื่องจากหลายๆ ตัวของหุ้นประเภทมักจะมีวัฏจักรเดียวกันนั่นคือ "เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีวันดับ" และสิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้ นั่นคือจะมีการรวมกลุ่มเรียกร้องของนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากราคาที่ลดลงหนักของ MGI หรือไม่? เพราะงานนี้คาดว่าน่าจะมีแรงขายออกมาจากหุ้นอีก หลังจากราคาหุ้นพุ่งแรงแพงระยับจนหาคนเข้ามารับไม้ต่อลำบาก

ปัดตกข้ออ้าง Naked Short 

ส่วนประเด็น Naked short selling ที่ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ออกมาแสดงความเห็นว่า  ราคาหุ้นร่วงแรงเมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 แล้วแผนกป้องกันความเสี่ยง คาด MGI น่าจะโดน Naked short selling หรือวิธีที่โบรกเกอร์จะเอาหุ้นที่มีอยู่ของคนอื่นให้ผู้มีอิทธิพลยืมทุบเล่น ทำให้จะไล่เช็กคนมีหุ้นเยอะว่าอยู่โบรกเกอร์ไหนบ้าง ถ้าเจ้าตัวไม่ขาย แต่มีธุรกรรมซื้อขาย MGI ในโบรกเกอร์นั้น เพื่อแสดงว่าโบรกเกอร์ดังกล่าวรู้เห็นเป็นใจแอบเอาหุ้นไปทุบหาผลประโยชน์นั้น 

ประเด็นดังกล่าว ก็ทำให้หลายคนมองว่า บอสของ MGI ทำผิดหน้าที่ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารจะลงมากระทำ มีแต่บรรดาเทรดเดอร์มากกว่าที่จะทำเรื่องแบบนี้ จึงร้อนไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) ที่หลายฝ่ายอยากเห็นท่าทีขององค์กรต่อเรื่องดังกล่าว

จากล่าสุด ตลท.เพิ่งจะเรียกเสียงปรบมือรัวๆ เมื่อออกมาชี้แจงกรณีที่ผู้บริหารของ MGI ออกมาแสดงความเห็นว่า มีการทำ Naked short selling หุ้น MGI โดยใช้ Robot trading และมีการเข้ามาแอบแฝงเก็บหุ้นผ่าน NVDR ในวันที่ 29 ก.พ.-1 มี.ค.67 ซึ่ง ตลท.สามารถชี้แจงได้กระจ่างข้อสงสัยว่า

ประการแรก MGI เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำ short selling เนื่องจากโดยหลักการหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตต้องเป็นหลักทรัพย์มีขนาดใหญ่ และสภาพคล่องสูงเท่านั้น โดย ตลท.จะประกาศรายชื่อให้ผู้ลงทุนทราบผ่าน SET website

ประการต่อมา การซื้อขายในวันที่ 29 ก.พ. และ 1 มี.ค.67 ซึ่งราคาปิด MGI อยู่ที่ -30.27% และ +6.59% ตามลำดับนั้น พบว่า เป็นการซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยประมาณ 98% ขณะที่ซื้อขายด้วย Program trading มีประมาณ 2% ซึ่งมีหุ้นในจำนวนเพียงพอก่อนขาย ทั้งนี้ สัดส่วนการซื้อขายของ Program trading ตั้งแต่เข้าซื้อขายวันแรกจนถึง 1 มี.ค.67 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ อยู่ที่ประมาณ 3% 

พบข้อมูลเก็งกำไรสูง 

โดยผู้ลงทุนไทยที่ซื้อขายผ่าน Thai NVDR อยู่ที่ 2.8% โดยจากการปิดสมุดทะเบียนล่าสุด (9 ม.ค.67) ผู้ถือผ่าน Thai NVDR รายใหญ่ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกของ MGI (สามารถทราบรายชื่อผู้ถือ Thai NVDR ได้จาก SET website) ขณะที่สภาพการซื้อขายมีความผันผวน และเก็งกำไรสูง โดยมีราคาเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน และไม่พบ Material information สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนี้ P/E และ P/BV ที่ 85.41 และ 22.40 เท่า ตามลำดับ, อัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือที่แสดงภาวะการเก็งกำไรอยู่ที่ประมาณวันละ 7% (ในขณะที่ mai อยู่ที่ 0.25%)

ทั้งนี้ สารสนเทศที่แจ้งเพิ่มเติมในวันที่ 1 และ 4 มี.ค.67 เป็นการดำเนินการตามธุรกิจปกติของบริษัทที่ได้เปิดเผยลักษณะธุรกิจดังกล่าวในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) แล้ว

ปัจจุบัน MGI เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับสูงสุด ดังนั้น หากสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับกับพื้นฐานและเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ MGI จะถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 1 วัน จากนั้นเมื่ออนุญาตให้ซื้อขายจะยังคงห้าม Net settlement ห้ามนำเป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น เป็นเวลา 3 สัปดาห์ นับแต่วันที่ประกาศใหม่ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดใช้กับทุกหลักทรัพย์ที่มีสภาพผิดปกติ

นั่นทำให้ ทฤษฎีการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น MGI ในช่วงที่ผ่านมามีความเป็นไปได้ที่มีความผิดปกติ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงนั้นเข้าเกณฑ์สภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับกับพื้นฐานและเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้ถูกพักการซื้อขาย และห้าม Net settlement หรือห้ามนำเป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขาย จึงต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวที่ผ่านมาถูกกำหนดใช้กับทุกหลักทรัพย์ที่มีสภาพผิดปกติ

ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า  มาตรการที่ MGI โดนบังคับใช้ไม่ใช่การกลั่นแกล้งของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อ MGI แต่เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นเข้าหลักเกณฑ์ที่ส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบให้หลายภาคส่วนในอนาคต ทำให้จำเป็นที่ผู้ควบคุมต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันการลุกลามบานปลาย 

ตลท.ต้องเพิ่มมาตรการอีก 

นอกจากนี้ กรณีของ MGI ยังทำให้นักลงทุนหลายรายเริ่มมองว่า มาตรการกำกับการซื้อขายที่มีอยู่ ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะเอาผิด หรือแก้ปัญหาราคาหุ้นพุ่งร้อนแรงที่เกิดขึ้นได้ นั่นเพราะมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นปัจจุบัน ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า ไม่อาจดับความร้อนแรงหุ้นหลายตัวได้ และ MGI ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะแม้ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหลายครั้ง แต่ราคาหุ้นยังพุ่งทะยานอยู่

ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลังความผิดปกติของหุ้นแต่ละตัว ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกรงกลัวมาตรการกำกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯแม้แต่น้อย และนั่นทำให้ผู้บริหาร ตลท.จึงถูกมองว่าเป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น แม้จะเตรียมเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นผิดปกติ แต่ ตลท. ไม่เคยชี้แจงว่า ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นในจุดไหน และมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ดังนั้น ถ้า ตลท. สามารถลากคอคนที่อยู่ เบื้องหลังการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เป็นคดีตัวอย่างเพียงคดีเดียว ปัญหาการลากราคาหุ้นให้พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงผิดปกติคงลดลงทันตาเห็น จึงไม่น่าแปลกใจหาก กรณีของหุ้น MGI จะมีความเป็นไปได้สูงที่เรื่องดังกล่าวจะจบลงแบบงงๆ และกลายเป็น ปัญหาคาใจนักลงทุนไปอีกนานแสนนาน  ว่าใครกันคือผู้ที่อยู่ เบื้องหลังการผลักดันราคาหุ้นให้ทะยานขึ้นอย่างสุดโต่งครั้งนี้

ทำอย่างไรกับกลุ่มเชียร์หุ้น

นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตามองเพิ่มเติมต่อกรณีหุ้น MGI นั่นคือ บรรดากองเชียร์ที่ยืนหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ส่งเสียงเชียร์กันอย่างโจ๋งครึ่ม โดยไม่เกรงกลัวความผิดการชี้นำราคาหุ้นแต่อย่างใดและไม่คำนึงถึงพฤติกรรมเชียร์ว่า มีความเหมาะสมหรือไม่

เรื่องนี้รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารบริษัท ถือว่ามีส่วนได้เสียกับการขึ้นลงของราคาหุ้น ตามมารยาทหรือโดยจิตสำนึกแล้ว ไม่ควรออกมาแหกปากตะโกนบอกชาวบ้านว่า ซื้อหุ้นเพิ่มเข้ามาเท่าไหร่ ไม่ควรเปิดเผยราคาหุ้นที่ซื้อ และไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องโพนทะนาว่า จะไม่ขายหุ้น

มีรายงานว่า "กฤติเดช ประชานุกูล" ผู้ถือหุ้นใหญ่ MGI อันดับที่ 11 ถือครองหุ้นจำนวน 1.5 ล้านหุ้น กลับโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลโอ้อวดว่า ซื้อหุ้น MGI ในราคาสูงระดับหนึ่ง แต่ออกมาคุยโวสร้างภาพใหญ่โต โดยระบุว่า อยากมีชีวิตที่มีความสุขในอนาคต ทำงานได้เงินมาก็ฝากหุ้น MGI 

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อความว่อนในสื่อโซเชียล มีชื่อนายกฤติเดช พร้อมข้อความ "ใครพลาดขายต่ำกว่า 60 บาท พวกผมรอกวาดเรียบนะ" แต่ไม่อาจยืนยันว่า เป็นข้อความที่นายกฤติเดชโพสต์จริงหรือไม่ แต่เป็นข้อความเชียร์หุ้น MGI อย่างโจ๋งครึ่ม

ทั้งที่หุ้น MGI แทบไม่มีเสียงเชียร์จากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์สำนักไหน มีแต่เสียงเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังต้องยอมรับว่าเสียงเชียร์ที่ดังลั่นตลาดหุ้นเป็นรายวัน เกิดจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียแทบ ทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ MGI

สำหรับ ตลท. จะปล่อยให้ MGI จะปล่อยให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ออกมาเชียร์หุ้นตัวเองสนั่นหวั่นไหว โดยไม่ "ยี่หระ" ต่อกฎกติกาและมารยาทใดๆ หรือ?

ปรากฏการณ์เชียร์หุ้น หว่านล้อมชักจูงให้ประชาชนผู้ลงทุนตามแห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้น MGI เป็นปัญหาใหญ่ที่ ตลท.ต้องเร่งรีบหามาตรการควบคุม แก้ไขและจัดการ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ MGI จะเป็นเยี่ยงอย่างผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท จดทะเบียน หรือผู้มีส่วนได้เสียกับราคาหุ้น แห่ออกมาเชียร์หุ้นโจ๋งครึ่มเช่นเดียวกับ MGI

การปลุกเร้า โฆษณาชวนเชื่อ เชียร์เพื่อชักจูงให้เข้าไปเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าไม่ฆ่าตัดตอนเสียตั้งแต่หุ้น MGI และปล่อยให้การเชียร์หุ้นขยายวงต่อไป อาจกลายเป็นจุดจบ หรือหายนะของนักลงทุนครั้งใหญ่ และรุนแรงยิ่งกว่าการแต่งบัญชีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เสียอีก 

จะเข้าเก็บหุ้นต้องทำใจ 

ส่วนคนที่คิดว่ายังมีโอกาสทำกำไรจากราคาหุ้นตอนนี้ แม้ราคาจะปรับตัวลง 50% นั้น แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ความเห็นว่าอยากให้พิจารณาดูว่า รายใหญ่ยังสามารถขายทำกำไรได้อยู่ เพราะมีหุ้นต้นทุนต่ำเก็บสะสมไว้อยู่ในมือ ถ้าคิดจะเสี่ยงเข้าไปรับหุ้น MGI ควรต้องคิดให้หนักหน่อย เพราะรอบการเก็งกำไรอันร้อนแรงน่าจะปิดฉากลงแล้ว

สำหรับนักลงทุนที่ติดหุ้น MGI อยู่ โดยขายออกไม่ทัน และการแก้ปัญหาโดยเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน เชื่อว่าไม่ใช่ความคิดที่ถูกนัก เพราะถ้าลงร่วงต่อจะเสียหายหนักขึ้น การป้องกันความเสียหายไม่ให้ลุกลามมากขึ้น วิธีดีที่สุดคือ ไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม จำกัดความเสียหายจากหุ้นที่ถือติดมืออยู่เท่านั้น และบริหารให้ขาดทุนน้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น