สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดตัวแคมเปญ “วิชากันลวงทุน” สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ สร้างความเข้าใจถึงภัยคุกคามจากกลโกงหลอกลงทุนที่รูปแบบซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียหายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการกลโกงออนไลน์จากมิจฉาชีพในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ การหลอกลงทุนในธุรกิจที่อ้างผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น การชักชวนลงทุนผ่านการสร้างโปรไฟล์ของบุคคลที่น่าเชื่อถือ การหลอกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ การส่งลิงก์ปลอมให้คลิกเพื่อดูดข้อมูลหรือทรัพย์สินเช่นเงิน หรือเหรียญคริปโตของผู้เสียหาย เป็นต้น
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “นับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา พบว่า มีผู้แจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนมายัง ก.ล.ต. กว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหลอกลงทุนทางออนไลน์ ก.ล.ต. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้และมีความห่วงใยต่อประชาชน จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยกลโกงลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ได้จัดทำโครงการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ภายใต้แคมเปญ “ดูแล้วเว่ออย่าเผลอลงทุน” และโครงการจัดประกวดผลิตคลิปวิดีโอ “รู้ทันมิจ ฉุกคิดก่อนลงทุน” และในปีนี้ ได้เปิดตัวแคมเปญ “วิชากันลวงทุน” ชุดสื่อความรู้ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้คนไทยรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รู้ทันกลโกงลงทุน ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อที่หลากหลายสนุกเข้าใจง่าย ได้สาระ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567”
สำหรับแคมเปญ “วิชากันลวงทุน” จะเป็นการสื่อสาร ทั้งในรูปแบบของการ์ตูนสั้น คลิปวิดีโอสั้น อินโฟกราฟิก พอดแคสต์ หนังสือการ์ตูนสั้น ที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัย โดยสามารถรับชมได้ผ่านช่องทาง ไมโครไซต์ของ ก.ล.ต. ซึ่งในเบื้องต้นจะมีแบบทดสอบ (Quiz) “ตามหามิจแท้” สำหรับผู้ลงทุนเพื่อสำรวจตนเองให้ทราบว่ามีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพรูปแบบใด มากน้อยเพียงใด รวมทั้งภายในเว็บไซต์มีสื่อความรู้ประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1) การ์ตูนแอนิเมชัน แก๊กตลกออนไลน์
2) หนังสือการ์ตูนสั้น “วิชาตลกลวงทุน” สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนพกอ่านติดตัวได้อย่างเพลิดเพลินและยังได้ความรู้ ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับกลโกงออนไลน์ที่พบบ่อย เช่น แชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน หลอกให้โอนเงิน วิธีสังเกตและตรวจสอบความน่าเชื่อถือบุคคลที่มาชักชวนลงทุน ด้วยแอปพลิเคชัน SEC Check First แนวทางป้องกันตัว รวมทั้งวิธีรับมือเมื่อถูกหลอกลงทุน
3) เรื่องเล่าเชิงสารคดี “คน ลวง โลภ”
4) บทความกลลวงลงทุนและวิธีรับมือเพื่อให้รอดจากการลงทุน
5) บทความและคลิปวิดีโอถ่ายทอดประสบการณ์จริงผู้เคยประสบเหตุเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพื่อป้องกันตนเองจากภัยกลโกงหลอกลงทุนภายใต้โครงการ “วิชากันลวงทุน” รวมถึงผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของสื่ออื่น เช่น ขายหัวเราะ, Capital Read, The Matter, Salmon podcast เป็นต้น นอกจากนี้ หากพบเบาะแสเรื่องหลอกลงทุนสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส โทร 1207 กด 22