ผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) คลางแคลงใจ “ธนาคารกรุงศรี” กรณีห้องชุดที่ใช้เป็นหลักประกันหุ้นกู้ 2 รุ่น ค้างค่าชำระส่วนกลางก่อนนำมาวางประกัน คาดหากรอจนจบอายุหุ้นกู้ตัวเลขอาจแตะหลัก 10 ล้านบาท ทำให้ผู้เสียหายเริ่มสงสัยธนาคารจงใจปิดตา หรือตรวจสอบผิดพลาด
สถานการณ์ของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา นั่นเพราะ ALL คือ 1 ในจุดเริ่มต้นของสัญญาณวิกฤตหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในเมื่อปีก่อน ด้วยความสามารถในการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด (7 รุ่น) รวมมูลค่ากว่า 2.4 พันล้านบาท และยังคงเป็นปมปัญหาคาราคาซังมาจวบจนทุกวันนี้
แม้ผู้ถือหุ้นกู้ "ออลล์" ที่ได้รับความเสียหายจะมีมติอนุมัติให้ "ธนาคารกรุงศรีฯ" (BAY) ฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ดำเนินการฟ้องร้อง-บังคับคดีแทนตามกฎหมายก็ตาม
นั่นเพราะผู้ถือหุ้นกู้เริ่มพบสัญญาณแปร่งๆ เกิดขึ้นในการดำเนินการติดตามทวงถามของ “ธนาคารกรุงศรี” ต่อ ALL จนทำให้เริ่มสงสัยกันว่า “นี่เป็นความผิดพลาดโดยเจตนา” หรือ “ปิดตาข้างหนึ่ง” เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปหรือไม่?
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากผู้ถือหุ้นกู้พบสัญญาณความไม่ชอบมาพากลในหุ้นกู้ 2 รุ่นของ ALL ได้แก่ ALL 252A มูลค่า 251.6 ล้านบาท และหุ้นกู้ ALL242A มูลค่า 168.2 ล้านบาท มูลค่ารวม 419.8 ล้านบาท โดยมีหลักประกันหุ้นกู้ประกอบด้วย ที่ดินเปล่า 192.5 ตร.ว. กรรมสิทธิ์ห้องชุดโครงการ The Excel Ratchada 18 และกรรมสิทธิ์ห้องชุด The Excel Ladprao-Sutthisan ซึ่งมีมูลค่าหลักประกันประเมินรวม 468.84 ล้านบาท
นั่นเพราะภายหลังจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเมื่อวันที่ 31 ก.ค.66 ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตรวจเอกสาร (Factsheet) ในเรื่องรายละเอียดของหลักประกันหุ้นกู้ที่ถือครองอยู่พบว่า กรรมสิทธิ์ห้องชุดโครงการ The Excel Ratchada 18 และกรรมสิทธิ์ห้องชุด The Excel Ladprao-Sutthisan ทางผู้ออกหุ้นกู้ได้ก่อหนี้บุริมสิทธิด้วยการค้างค่าชำระส่วนกลางในหลักประกันมาก่อนจะนำมาค้ำประกันหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดข้างต้น
และจากการสืบค้นของผู้ถือหุ้นกู้ได้พบเอกสารใบแจ้งมูลหนี้ของนิติบุคคลทั้ง 2 โครงการ เริ่มที่ The Excel Ratchada 18 ค้างค่าชำระส่วนกลางรอบ ก.ย.64-ก.พ.65 ขณะที่ The Excel Ladprao-Sutthisan ค้างค่าชำระส่วนกลางรอบ พ.ย.63-ก.พ.65 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 6.9 ล้านบาท (The Excel Ladprao- ค้างชำระ 2.9 ล้านบาท และ SutthiThe Excel Ratchada 18 ค้างชำระ 4.59 ล้านบาท)
โดยหนี้ดังกล่าวตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารนั้น มีลำดับการชำระหนี้อยู่ก่อนเจ้าหนี้จำนอง (เจ้าหนี้หุ้นกู้) แต่เอกสาร Factsheet ของหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดดังกล่าวกลับไม่ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นกู้ เพราะสำคัญผิดว่าหลักประกันดังกล่าวปลอดภาระหนี้สิน
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นยังผิดต่อสัญญาต่อท้ายสัญญาจดจำนองหลักประกันหุ้นกู้ ข้อ 3 ที่ระบุว่าในการจดทะเบียนจำนอง ผู้จำนองรับรองว่าทรัพย์จำนองปราศจากภาระผูกพัน ค่าธรรมเนียม และภาระภาษีใดๆ และหากละเลยเรื่องดังกล่าวจนถึงสิ้นสุดอายุหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันร่วม 10 ล้านบาท
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ถือหุ้นกู้มีความสงสัยในขั้นตอนการรับหลักประกันหุ้นกู้ว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดหลักประกันเหล่านี้ ก่อนนำมาจดจำนองหุ้นกู้นั้น เกิดความผิดพลาดอย่างจงใจหรือไม่?
นั่นเพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่มีระบุในเอกสารชี้ชวน ยิ่งทำให้ผู้ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นกู้สำคัญผิดว่าหลักประกันดังกล่าวปลอดภาระหนี้สิน จนนำไปสู่ความคลางแคลงใจของผู้ถือหุ้นกู้ต่อพฤติกรรมของธนาคารกรุงศรีฯ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ว่ามีเจตนาโดยตรงที่จะปกปิดข้อมูลดังกล่าวต่อผู้ถือหุ้นกู้หรือไม่? ขณะเดียวกัน มูลค่าดังกล่าวยิ่งทำให้โอกาสที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับเงินที่เสียหายกลับคืนมายิ่งลดลงไปด้วย