ฐิติกรมีกำไรสุทธิ 92.1 ล้านบาท และรายได้รวม 1,653.9 ล้านบาท จากพอร์ตเช่าซื้อรวม 3,658.8 ล้านบาท ประกาศจ่ายปันผล 125 ล้านบาท หรือ 0.25 บาท/หุ้น นับเป็นการปันผลต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 นับตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 2,179.5 ล้านบาท พร้อมใช้ขยายตัวธุรกิจในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่ต้องกู้คุมต้นทุนทางการเงิน D/E ปี 2566 อยู่ที่ 0.15 เท่า
น.ส.ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า บริษัทได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 28 ล้านคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ยอดส่งออกหดตัว 1% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานที่ยังคงสูง รวมถึงปัญหาสงครามที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องและปรับตัวลงอย่างช้าๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาพรวมเศรษฐกิจจากรายงานเศรษฐกิจไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยขยายตัว 1.9% ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับการดำเนินงานของ TK ในปีที่ผ่านมา
ด้วยปัจจัยเสี่ยงข้างต้น TK ดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ทั้งด้านการขยายธุรกิจและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ด้านการบริหารจัดการภายใน เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงาน การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ในการดำเนินงาน การบริหารต้นทุนต่างๆ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ TK ในปี 2566 ที่ผ่านมาคงมีกำไรสุทธิ 92.1 ล้านบาท ลดลง 74.9% จาก 367.1 ล้านบาทในปี 2565 และมีรายได้รวม 1,653.9 ล้านบาท ลดลง 15.1% จาก 1,947.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 125 ล้านบาท โดยจะปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 14 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นี้ เป็นการปันผลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 นับตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546
ด้านสถานะทางการเงิน TK มีเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 2,179.5 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ขยายตัวธุรกิจในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นโดยไม่ต้องกู้ยืม เป็นการคุมต้นทุนทางการเงิน เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการให้บริการเช่าซื้อในประเทศ การขยายพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศทั้งในกัมพูชา และ สปป.ลาว รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ทั้งบริการ “ทีเค รถแลกเงิน” จำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย และบริการใหม่ล่าสุด TK ME ทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สิน
“ในปี 2567 นี้ TK มีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นคุณภาพลูกหนี้ในประเทศ ในขณะที่จะขยายพอร์ตในต่างประเทศให้สัดส่วนสูงกว่า 40% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยในปี 2567 จะหดตัว TK จึงปรับกลยุทธ์มุ่งควบคุมคุณภาพลูกหนี้ที่เข้มกว่าเดิม ในขณะที่ยังมองหาโอกาสในการสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจใหม่ และเติบโตแบบยั่งยืน” น.ส.ปฐมา กล่าว
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,658.8 ล้านบาท ลดลง 12% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปรับให้สอดรับกับการมีผลบังคับใช้ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาของ สคบ. และเหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ด้านการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าลูกหนี้การค้า บริษัทเห็นความสำคัญของการมีสำรองที่เพียงพอ ณ สิ้นปี 2566 มีสำรองจำนวน 367.8 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 8% และมี Coverage Ratio ที่ 113.6% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 344.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7% และมี Coverage Ratio ที่ 109.8% ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,404.7 ล้านบาท ลดลง 2.3% จาก 6,558.3 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 815.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จาก 800.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
ในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะชะลอตัวและมียอดขายประมาณ 1.7 ล้านคัน หรือลดลง 9% จาก 1.8 ล้านคันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การซื้อรถจักรยานยนต์ ผู้บริโภคเพียง 20% จ่ายเป็นเงินสด ขณะที่ 70-80% ใช้บริการไฟแนนซ์ และคาดการณ์ว่าตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 68,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 75,000 ล้านบาทจากปีก่อน ในส่วนของหนี้เสียจะมีเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจากการคาดการณ์ดังกล่าว ในปีนี้ TK จึงต้องเน้นการบริหารคุณภาพสินเชื่อระมัดระวัง และควบคุมคุณภาพลูกหนี้มากยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยใช้ 2 หลักการ คือ รายได้มากกว่าค่าผ่อนชำระ โดยต้องไม่น้อยกว่า 3 เท่า และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ Debt Servicing Ratio (DSR) ลูกหนี้ที่ดีควรมีไม่สูงจนเกินไป DSR อยู่ระดับ 30-40% เนื่องจากลูกค้ามีการผ่อนชำระหนี้หลายรายการ
“นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ธุรกิจเช่าซื้อในประเทศกำลังติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังจะออกมาเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงเกณฑ์การเข้ามาดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราพร้อมเดินหน้าบริหารงานภายใต้บริบทใหม่ ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน บริหารลูกหนี้เพื่อสินเชื่อที่มีคุณภาพ ขณะที่สร้างโอกาสเติบโตทั้งในธุรกิจเช่าซื้อที่เราเชี่ยวชาญด้วยการขยายตลาดในต่างประเทศ ควบคู่กับการเพิ่มรายได้จากบริการใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง TK ME ที่เพิ่งทดลองให้บริการที่เป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งได้รับการตอบรับดีขึ้นเป็นลำดับ” นายประพล กล่าว