xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.81 แกว่งตัว sideways down

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.55-36.15 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้(4มี.ค.67) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.95 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควรแต่โดยรวมเป็นการแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 35.78-36.00 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM ภาคการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ออกมาแย่กว่าคาด ขณะเดียวกัน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเร็วและแรง ทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น ตามการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มออกมาแย่กว่าคาดได้กดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และผลการประชุม ECB อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) สหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways down โดย เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้างหากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อ หลังปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านในสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดทุนไทยจนกว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นไทยจะจบลง ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางสกุลเงินเอเชีย ทั้งเงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ส่งผลต่อเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้ จากปัจจัยข้างต้นทำให้เราประเมินว่า โซนแนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปแถว 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways/sideways down หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หรือตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อนึ่ง เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้หาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน หรือในกรณีที่บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น