กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ผลการดำเนินงานปี 66 มีกำไรสุทธิ 1,576.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.08% ส่วนรายได้รวม 7,737.12 ล้านบาท จากการเติบโตส่วนของพลังงานทดแทน และงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนที่ได้รับคัดเลือกและเซ็น PPA ด้วยงบลงทุน 5 ปี มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท
น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวดปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยมีรายได้รวม 7,737.12 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,576.18 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานที่เติบโต ทั้งในส่วนของพลังงานทดแทน และงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในประเทศ และได้รับคัดเลือกตามประกาศ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 จำนวน 17 โครงการ รวม 832.4 เมกวัตต์ โดยบริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟแล้ว จำนวน 14 โครงการ รวม 621.4 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง และทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทต้องใช้งบลงทุนด้านพลังงานทดแทนใน 5 ปี ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้าน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงเห็นชอบให้ดำรงเงินสดไว้ในกิจการเพื่อนำไปลงทุน จึงเห็นควรให้งดจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมประจำปี สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนที่บริษัทมีอยู่ รวมถึงเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กิจการและผู้ถือหุ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 บริษัทได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานสำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ในอัตรา 0.06 บาท/หุ้น คิดเป็นร้อยละ 52.23 ของกำไรสุทธิ และ/หรือ คิดเป็นร้อยละ 45.75 สำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังคงเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่บริษัทได้กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้อัตราการจ่ายเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้น (Dividend Yield) หลังหักสำรองใดๆ มีอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อน
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรในการที่จะพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและการติดตั้งพลังงานทดแทนให้แก่ประชาชนที่สนใจอยากเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มโกดังไฟฟ้าดอทคอม (www.godungfaifaa.com) และแพลตฟอร์มศูนย์รวมผู้รับเหมาโซลาร์ Volt (www.voltmarketplace.com) โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวได้นำมาใช้งานในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) เพื่อเป็นการรองรับการผลิตพลังงานหมุนเวียนและศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) รวมถึงแสวงหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทมีโครงการอยู่ในมือแล้วรวม 1,563 เมกะวัตต์ และบริษัทคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะสามารถมีจำนวนเมกะวัตต์สะสมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เมกะวัตต์ และมีรายได้รวม 10,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันในปี 2566 แสดงจำนวน 7,737 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 2,263 ล้านบาท ทั้งนี้รายได้รวมในปี 2566 แสดงการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ดังนี้
1.โครงการโรงไฟฟ้า Private PPA
- บริษัทมีการบันทึกรายได้การขายสินทรัพย์ในรูปแบบสัญญาเช่าเงินทุน ซึ่งในปี 2566 แสดงจำนวน 988 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 536 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 119%
- บริษัทรับรู้รายได้ดอกผลจากการให้เช่าซื้อโดยทยอยรับรู้ตลอดโครงการตามสัญญาขายไฟฟ้าให้กับคู่ค้า โดยในปี 2566 แสดงจำนวนเป็นรายได้ค่าบริการ 389 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 230 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 41%
2.รายได้จากธุรกิจก่อสร้างและให้บริการ รายได้จากการก่อสร้างและให้บริการในงบการเงินรวม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แสดงจำนวน 2483.26 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนแสดงจำนวน 1776.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 707.01 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.80 เนื่องจากการรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ลูกค้าภาคเอกชน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีศักยภาพในการทำระบบสายส่งแรงดัน 500kv โดยบริษัทสามารถก่อสร้างระบบสายส่งทั้งใต้ดินและบนดิน ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า รวมถึงมีประสบการณ์ด้านการวางสายเคเบิลใต้ทะเล อีกทั้งบริษัทยังมีโอกาสที่จะได้รับงานเพิ่ม เนื่องจากมีการขยายสายส่งสถานีเพื่อรองรับแผน PDP ของพลังงานหมุนเวียนที่ได้มีการประกาศไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทมีทั้งโอกาสและศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3.ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แสดงจำนวน 1,019.49 ล้านบาท (บันทึกส่วนแบ่งกำไรเป็นระยะเวลา 12 เดือน) เปรียบเทียบกับปีก่อนแสดงจำนวน 510.64 ล้านบาท (บันทึกส่วนแบ่งกำไรเป็นระยะเวลา 5 เดือน) เพิ่มขึ้นจำนวน 508.85 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.65 เนื่องจากบริษัทได้เปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทย่อยในกลุ่มพลังงานลมทั้ง 3 โครงการ ในสัดส่วนร้อยละ 50 และเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีจากกลุ่มบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมค้า ทำให้ตั้งแต่วั้นที่ 27 กรกฎาคม 2565 ทำให้มีการบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกลุ่มบริษัทย่อยในกลุ่มพลังงานลมทั้ง 3 โครงการ เพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ
4.รายได้อื่น สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แสดงจำนวน 131.88 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อน แสดงจำนวน 60.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 71.22 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 117.41 โดยเกิดจากรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่ยังไม่ได้ส่งมอบโครงการแก่ลูกค้า แต่ได้มีการบันทึกรายได้ค่าขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
“จากความสำเร็จของบริษัทในปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของบริษัท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร โดยการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะเน้นการสร้างคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน จนบริษัทได้รับการประเมิน SET ESG Rating ในปี 2566 ที่ระดับ AA และได้รับผลประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2566 ระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 รวมถึงบริษัทได้รับรางวัลและการรับรองต่างๆ มากมาย เช่น การรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1:2018 มาตรฐานการรายงานผลการปลดปล่อยและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดำเนินธุรกิจและสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ควบคู่กับการสร้างคุณค่าแก่สังคม” น.ส.โศภชา กล่าว