ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งออกมาตรการยกระดับกำกับชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด คาดทยอยบังคับใช้ไตรมาส 2 ขณะมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้น และมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม ทั้ง Circuit Breaker และ Auto Halt คาดชัดเจนครึ่งปีหลัง เล็งใช้มาตรการซื้อขายแบบ Auction ดับหุ้นร้อน
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้า สายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กร และกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าเกณฑ์กำกับชอร์ตเซล และ Program Trading จะสามารถบังคับใช้ภายในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปี 2567 โดยจะทยอยใช้ทันทีที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งหากไม่เกี่ยวกับระบบจะดำเนินการได้เร็ว
ทั้งนี้ หุ้นที่สามารถขายชอร์ตได้ กำหนดใหม่ให้มีมาร์เก็ตแคปเป็น 7,500 ล้านบาท จากเดิม 5,000 ล้านบาท และมีปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดมากกว่า 2% ซึ่งจะทำให้มีหุ้นที่สามารถขายชอร์ตได้เหลือจำนวน 231หุ้น จากปัจจุบัน 292 หุ้น รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลนักลงทุนที่มีพฤติกรรมสั่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม ให้แก่สมาชิกทุกรายเพื่อใช้พิจารณาดำเนินการกับ นักลงทุนรายนั้นในทิศทางเดียวกัน และการเพิ่มโทษ ปรับสำหรับสมาชิกกรณีกระทำผิดเกี่ยวกับขายชอร์ตเป็น 3 เท่า
กล่าวคือ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ส่วนการขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกหรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองและไม่ได้รายงานตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันกำหนดปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ และปรับเพิ่มอีกไม่เกิน 50,000 บาท แต่ต่อไปจะปรับ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และปรับเพิ่มไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนกรณี Short sell ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ขายชอร์ตที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด ปัจจุบันปรับไม่เกิน100,000 บาทต่อครั้ง ปรับเป็นไม่เกิน 300,000 บาทต่อครั้ง
ส่วนการกำหนดเพดานสูงสุดในการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 30 วัน เพื่อควบคุมปริมาณชอร์ตเซล รวมทั้งยกระดับการตรวจสอบ ด้วยการใช้ Central Platform ในการ check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯในการตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย เพราะมีผู้ลงทุนบางราย อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ในครอบครองและมีการขายหลักทรัพย์นั้นออกมาก่อน
สำหรับมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้น และมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสมนั้น ตลท. จะบังคับใช้ เป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะแต่โปรแกรมเทรด และคาดมีความชัดเจนได้ช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เช่นเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้นที่บวกลบ 10%ของราคาซื้อขาย ล่าสุด (หรือ Dynamic Price Band) เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป, อีกทั้งเพิ่ม Auto Halt รายหุ้น และกรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด จะคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ของ Free Float Shares เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ
นอกจากนี้ การกำกับขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ป้องกัน การใส่ถอนคำสั่งที่ถี่เกินไป Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม การจัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับ บริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ ในการตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย