xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.87 โมเมนตัมการอ่อนค่าแผ่วลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ก.พ.) ที่ระดับ 35.87 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.05 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.80-35.95 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุมเฟดล่าสุดยังคงย้ำว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตาม อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบริษัท Nvidia ล่าสุดที่ออกมาแข็งแกร่ง และคาดการณ์ผลประกอบการที่มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาดอาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) สอดคล้องกับสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นพอสมควร ซึ่งภาวะเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวอาจกดดันให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways หรือย่อตัวลงได้บ้างในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทเรายังไม่เปลี่ยนมุมมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่านั้นแผ่วลง ทว่าด้วยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยอาจทำให้เงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่เรามองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด หลังเงินบาทได้พลิกกลับมาแข็งค่าหลุดแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง) นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียที่อาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง จากทั้งความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ออกมาสดใสล่าสุดอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นผ่านโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายหากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ ที่ชัดเจน

อนึ่ง เรามองว่าควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก เพราะอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยต้องจับตาว่า รายงานดัชนี PMI ดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกลางหลักอื่นๆ เช่น BOE และ ECB สามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด หรือไม่ (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน)

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักได้

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งในระยะนี้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น