xs
xsm
sm
md
lg

HSBC คาดจีดีพีปี 67 โต 3.1% ชี้ส่งออก ท่องเที่ยว บริโภคเอกชนหนุน ใช้จ่ายภาครัฐฉุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเฟรดเดอริค นอยแนมน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราผ่านความท้าทายมามาก ที้งดิสรัปชัน โควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนซบเซาซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย และจากตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 1.7% ทั้งปี 2566 ที่ 1.9% และปี 2567 ที่ 2.2-3.2% นั้น อาจจะทำให้เกิดความกังวลอยู่บ้าง แต่หากมองในรายละเอียดแล้วจะเห็นมีปัจจัยที่เริ่มกลับมาเป็นบวก เช่น ภาคการส่งออกที่เห็นปริมาณที่กระเตื้องขึ้น แม้ว่าทิศทางการค้าโลกจะมีแนวโน้มลง แต่ของไทยเริ่มกลับมา โดยคาดการณ์ส่งออกไทยน่าจะโตได้ 4-6% โดยส่วนหนึ่งยังมีแรงต้านจากการค้าโลกที่ไม่น่าจะดีนักในปีนี้ แต่ส่วนที่ยังกดดันจีดีพีให้อยู่ในระดับต่ำมาจากงบประมาณและการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าออกไป

สำหรับ HSBC คาดการณ์จีดีพีปี 2567 เติบโตที่ 3.1% จากปัจจัยบวกทางด้านการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากปีก่อนที่ตัวเลข 28.2 ล้านคน ปีนี้อาจจะแตะ 32-35 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจีนทื่้เริ่มกลับมามากขึ้น และโครงการฟรีวีซ่า ขณะที่ภาครัฐเองหากมีการผ่านงบประมาณออกมา ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินออกมาในระยะต่อไป และอัตราเงินเฟ้อที่ยังเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทำให้มองว่า ธปท.ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

"เรามองที่ 3.1% เป็นกรณีพื้นฐานไม่รวมกรณีดิจิทัล วอลเล็ต เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่หากรวมดิจิทัล วอลเล็ตหากออกมาได้หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ หรือโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐออกมาได้ อาจจะทำให้จีดีพีไทยขึ้นไปแตะที่ 3.5-4% ได้ แต่ในทางกลับกัน หากภาครัฐยังมีการตัดสินที่ช้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีของงบประมาณ การลงทุนโครงการ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตัวเลขจีดีพีอาจจะลงมาที่ 2.5-3% ก็เป็นไปได้ โดย HSBC คาดการณ์ต้วเลขการบริโภคภาคเอกชนปี 67 เติบโตที่ 4.8% การลงทุนภาคเอกชนเติบโต 3.5% ขณะที่การบริโภคภาครัฐหดตัว -0.3% และการลงทุนภาครัฐหดตัว -5.2%"

ขณะที่ปัจจัยลบเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอยู่ และจีนที่ยังเร่งเครื่องไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรามองว่าแม้ภาวะในต่างประเทศจะยังไม่เอื้อนัก แต่ไทยยังมีโอกาสที่จะเพิ่มมาร์เกตแชร์ และการเติบโตระยะยาว แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยด้วย เช่น หากเราต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) จะต้องมีโครงสร้างพื้่นฐานทางด้านต่างๆ ของรถอีวีรองรับด้วยเช่นกัน

**มอง ธปท.ไม่รีบร้อนลดดอกเบี้ย**

"กรณีการปรับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.นั้น เรามองว่ายังไม่เห็นความรีบร้อนที่ ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะเมื่อดูภาคการบริโภค-ลงทุนเอกชนแล้วยังไม่แย่ การลดดอกเบี้ยเป็นกระตุ้นในภาคเอกชนที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว ขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ควักกระเป๋าออกมา ดังนั้น การตัดสินใจของภาครัฐในการลงทุนโครงการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะที่กาารปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ ธปท.มีความกังวลอยู่ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังสูงต่อเนื่อง จะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะไปดึงการบริโภคไว้ นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ ธปท.ยังทรงๆ ดอกเบี้ยไว้อยู่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดในปัจจุบันว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวหรือไม่ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางประเทศหลัก ไม่ว่าจะเป็นเฟด อีซีบี ออสเตรเลีย เกาหลี ยังไม่มีท่าทีปรับลดดอกเบี้ย แต่หาก ธปท.มีการปรับดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางการลงมากกว่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น