ซิตี้ (Citi) คาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจทะยานขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และราคาน้ำมันมีสิทธิพุ่งขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า หากเกิดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจากทั้งหมด 3 ปัจจัยที่เป็นไปได้
นายอาคาช โดชิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ประจำอเมริกาเหนือของซิตี้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ทองคำ ซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ 2,016 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อาจพุ่งขึ้นประมาณ 50% หากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง (Stagflation) หรือเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง
"ปัจจัยที่จะเอื้อให้ทองคำพุ่งแตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์มากที่สุดคือการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ" นายโดชิ และนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ของซิตี้ระบุ
นายโดชิอธิบายว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซื้อทองคำเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว ซึ่งปัจจัยนี้มีสิทธิช่วงชิงตำแหน่งปัจจัยสำคัญที่สุดในการกระตุ้นอุปสงค์ทองคำไปจากการบริโภคอัญมณี
ซิตี้ระบุว่า การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ พุ่งสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารกลางเหล่านี้ต้องการสร้างความหลากหลายให้ทุนสำรองระหว่างประเทศและลดความเสี่ยงทางสินเชื่อ โดยธนาคารกลางจีนและรัสเซียเป็นหัวหอกในการเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ขณะที่อินเดีย ตุรกี และบราซิลก็ซื้อทองคำมากขึ้นเช่นกัน
สภาทองคำโลก (WGC) รายงานในเดือน ม.ค.ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำสุทธิกว่า 1,000 ตันติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว
อีกปัจจัยที่จะหนุนให้ทองพุ่งสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์คือภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยขั้นรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว
ส่วนราคาน้ำมัน ซิตี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง โดยนายโดชิ ระบุว่า ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้นได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากโอเปกพลัส และภาวะติดขัดด้านอุปทานจากภูมิภาคผลิตน้ำมันสำคัญ
อนึ่ง สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ฟิวเจอร์ส่งมอบเดือน เม.ย.ซื้อขายที่ 83.56 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ฟิวเจอร์ส่งมอบเดือน มี.ค.อยู่ที่ 79.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล