xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นลีสซิ่งส่งสัญญาณฟื้นตัว ดอกเบี้ยขาลง ฉุดต้นทุนการเงินต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมกลุ่มลีสซิ่งเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังทยอยประกาศงบปี66 พบหลายบริษัทมีกำไร ขณะที่บางบริษัทรายได้เพิ่มแต่กำไรหดจากราคาขายรถยึดร่วง ด้านกูรูชี้ได้รับปัจจัยบวกดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นไม่มาก แถมราคาหุ้นไม่แพง มีแนวโน้มกลับมาเติบโตหลังตั้งสำรองลดลง

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงต่อเนื่อง ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้กดดันให้หุ้นในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนถูกกดดันในด้านผลประกอบการ และการควบคุมของภาครัฐที่กดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้มาร์จิ้นในการดำเนินธุรกิจลดต่ำลง

ภาพรวมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ตลาดเช่าซื้อภาพรวมในประเทศมีการแข่งขันรุนแรง ขณะที่ปัจจัยภายนอกจากประกาศของ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลง สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มลีสซิ่ง ใช้กลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังและเข้มงวด ขนานไปกับการบริหารคุณภาพลูกหนี้ในพอร์ตเช่าซื้อเพื่อคงระดับหนี้เสีย รวมทั้งบริหารฐานทุนให้แข็งแรง เน้นการมีเงินสดเตรียมพร้อม ท่ามกลางภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่หดตัวลงจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า “หุ้นกลุ่มลีสซิ่ง” เริ่มมีโอกาสฟื้นจากโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มกลับสู่ขาลง ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ได้กลับมาเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง

โดยภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่ายอดขายรถยนต์จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2566 และประเมินกรอบการเติบโตของยอดคงค้างพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ไว้ที่ระดับประมาณ 1.5% (1.0-2.0%)

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อจะมุ่งเน้นรักษาระดับคุณภาพหนี้และการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending แต่ยอดขายรถยนต์ยังมีโอกาสขยายตัวไปที่ประมาณ 790,000 คัน จากรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ทยอยเปิดตัวมาแข่งขันเพื่อสร้างตลาดเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ เจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ

ขณะที่หลายบริษัทลีสซิ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทยอยประกาศผลดำเนินในปี 2566 ออกมาพบว่าหลายแห่งมีผลการดำเนินงานในแง่กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ความสนใจในหุ้นกลุ่มนี้กลับมาอยู่ในระดับน่าลงทุนอีกครั้ง

SAK แผนขยายสาขาหนุนรายได้

เริ่มที่ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SAK) รายงานผลดำเนินงานปี 2566 ว่า บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 12,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% โดยมีรายได้รวม 2,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 403.8 ล้านบาท จากปี 2565 มีรายได้ 2,336 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 749.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จาก 710.20 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากการขยายธุรกิจได้ตามเป้าหมาย โดยปี 2566 บริษัทเปิดสาขาเพิ่มขึ้นจำนวน 100 สาขา ส่งผลให้มีจำนวนฐานลูกค้าและลูกหนี้เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรายได้จากการขายและการให้บริการจากบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นรวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมฯนั่นทำให้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 314.4 ล้านบาท โดยกำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 29 เม.ย. 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 17 พ.ค. 2567

“ศิวพงศ์ บุญสาลี” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง แสดงความเห็นว่า แผนธุรกิจปี 2567 บริษัทมุ่งสร้างการเติบโตจากพอร์ตสินเชื่อทุกกลุ่ม วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่เพิ่มเติม และเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีก 37 สาขา หรือขยายสาขาครบ 1,066 สาขา จึงมั่นใจว่าพอร์ตสินเชื่อเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14,300 ล้านบาท เติบโต 15%

โดยอัตราการเติบโต ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 82.1% สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 9.7% สินเชื่อเช่าซื้อ 4.5% สินเชื่อส่วนบุคคลที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถ 1.9% สินเชื่อที่ดิน คิดเป็นสัดส่วน 1.8%

HENG พอร์ตสินเชื่อโตเกินคาด

ขณะที่ “วิชัย ศุภสาธิตกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2566 (มกราคม-ธันวาคม)ว่า พอร์ตสินเชื่อของบริษัทขยายตัวถึง 15,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14,400 ล้านบาท โดยพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีสัดส่วน 97% แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 65% ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเช่าซื้อ 31% และสินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน 2% มาจากกลยุทธ์มุ่งขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จนผลักดันให้ภาพรวมรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 2,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้บริษัทได้เพิ่มระดับความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพ และภาระหนี้ในภาคครัวเรือนสูง เป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ เป็นผลให้คุณภาพพอร์ตลูกหนี้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงได้มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จึงตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม (Management Overlay) สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต

ประกอบกับผลกระทบการขาดทุนทางด้านเครดิตอันมาจากรถยึด หลังราคารถมือสองปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกำไรสุทธิ 422 ล้านบาท ชะลอตัวลง 9% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานในปี 2566 ในอัตรา 0.0665 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 60% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการ โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567

ส่วนภาพรวมสินเชื่อในปี 2567 ประมินว่ายังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพ สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น


ASK โดนด้อยค่าสินทรัพย์ฉุดกำไร

ด้าน บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) รายงานผลดำเนินงานปี 2566 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไร 1,218.77 ล้านบาท ลดลง 293.37 ล้านบาท หรือ 19.40% จากปี 2565 ที่มีกำไร 1,512.14 ล้านบาท โดยมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ 35,313.94 ล้านบาท และมีรายได้รวม 6,498.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 875.11 ล้านบาท หรือ 15.56% จากจำนวน 5,623.60 ล้านบาท ในปี 2565

ทั้งนี้ มาจาก รายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อ 4,813.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 644.27 ล้านบาท หรือ 15.45% จากปี 2565 ที่มี 4,168.89 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าการเงิน ขณะเดียวกันบริษัท มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม 758.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.95 ล้านบาท หรือ 24.02% เป็นผลจากการให้สินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น โดยส่วนมากเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจำนำทะเบียน และรายได้ค่าบริการจากธุรกิจนายหน้าประกัน 605.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.33%

ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายปันผล โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผลวันที่ 1 มี.ค. 2567 ในอัตราหุ้นละ 1.16 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2567

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลมาจากการขายจากธุรกิจผลิตและ ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PPA) และค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย โดยคาดว่าจะนเพิ่มขึ้น40.65% เนื่องจากการตกชั้นของลูกหนี้ และการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย

THANI ผลขาดทุนด้านเครดิตพุ่ง

ด้าน บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) แสดงความคิดเห็นว่า ภาพรวมผลการดำเนินงาน เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัว จากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว 

ขณะที่ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและ รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน สำหรับในระยะข้างหน้า

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ภาพรวมผลประกอบการประจำปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,361.57 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 จำนวน 364.15 ล้านบาท หรือ 21.10% โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตและผลขาดทุนจากการขายรถยึดในส่วนของธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง และ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้รวม 4,609.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 275.95 ล้านบาท หรือ 6.37% แต่มีค่าใช้จ่ายทางการเงิน 1,171.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 246.26 ล้านบาท หรือ 26.61% ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีจำนวน 1,047.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 492.62 ล้านบาท หรือ 88.74%

โบรกฯเชื่อลีสซิ่งเริ่มฟื้นตัว

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (KTX) ระบุว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5:2 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี พร้อมลดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2567 ลงมาใกล้ 1% (เดิม 2%) และปรับลดเป้าหมายเติบโตจีดีพีปีนี้เป็น 2.5-3% (จากเดิม 2.8%) นั้น มองว่าเงินเฟ้อถูกปรับ ลดลงมาใกล้ระดับต่ำสุดของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% สะท้อนกนง.มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นผลบวกต่อ หุ้นกลุ่มอิงดอกเบี้ยขาลง เช่น กลุ่ม High Dividend Yield กลุ่มไฟแนนซ์ รวมถึงกลุ่ม Capital Intensive เช่น กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า สำหรับหุ้นที่เป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มปันผลสูง ได้แก่ BCP, PTT, TOP, WHAUP, SABINA, ADVANC ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ SAWAD, MTC ,TIDLOR

นั่นเพราะมองว่า กนง. ส่งสัญญาณถึงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังคงประเมินว่าจะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว และกนง. จำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่าง ๆ ในระยะต่อไป ขณะที่มีความเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ 

ขณะที่ บล.หยวนต้า ประเมินว่า คาดกำไรสุทธิ ไตรมาส 4 ปี 66 ของหุ้นสินเชื่อจำนำทะเบียนภายใต้Coverage รวมอยู่ที่ 3,540 ล้านบาท โต 12% เทียบปีก่อน แต่ลดลง 3.8% จากไตรมาสก่อน หลังถูกกดดันจากราคารถยนต์มือสองที่ต่ำลง ทาให้มีผลขาดทุนรถยึดสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนทางการเงินยังปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ NIM ชะลอลง

แต่ถ้าพิจารณาเป็นรายตัว คาดว่า SAWAD จะมีกำไรสุทธิโตเทียบปีก่อนมากที่สุด และชะลอตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน น้อยที่สุด หลังเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบางกลุ่ม ทำให้คงน้ำหนักลงทุนของกลุ่มไฟแนนซ์ที่ “เท่ากับตลาด” แม้ผลดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี66 ชะลอตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่คาดสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกปี67 เป็นต้นไป หลังคาดราคารถยนต์มือสองจะเริ่มฟื้นตัวนอกจากนี้ด้วย Bond Yield ไทยที่ชะลอตัวลงเรื่อยๆ แล โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3 ปี 67 จะเป็นปัจจัยช่วยให้หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ กลับมาน่าสนใจมากขึ้น 

สถานการณ์ดังกล่าวเป็โอกาสให้หุ้นสินเชื่อจำนำทะเบียน เนื่องจากมีช่องว่างในการปรับดอกเบี้ยขึ้น จากปัจจุบันดอกเบี้ยยังต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยของ ธปท. และมีการจำกัดความเสี่ยงได้ดีกว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภค อีกทั้งมีแรงกดดันจากกฎระเบียบใหม่ๆ ของ ธปท. ไม่มาก

เช่นเดียวกับ บล.กสิกรไทย ที่ประเมินว่า หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ได้รับปัจจัยบวกด้านดอกเบี้ยในตลาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว น่าจะทำให้ระดับต้นทุนการเงินไม่เพิ่มขึ้นมากแล้วในปี 2568 เป็นต้นไป และทิศทางการโตของสินเชื่อถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี เช่น สำหรับธุรกิจจำนำทะเบียน คาดสินเชื่อ เติบโต 15-20% 

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นความเสี่ยง จากปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นจากภาวะ หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และต้นทุนการออกหุ้นกู้ ที่ยังสูงขึ้นแม้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล จะเริ่มปรับตัวลดลงมาแล้วก็ตาม ดังนั้นยังให้น้ำหนักลงทุน กลุ่มไฟแนนซ์เท่ากับตลาด แนะกลุ่มจำนำทะเบียนน่าสนใจกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีระดับราคาหุ้นที่ไม่แพงแล้วใน กรอบ PER 15-17 เท่า และปี 67 มีแนวโน้มกำไรกลับมาเติบโตได้จากการตั้งสำรองที่น่าจะ ลดลง หุ้นเด่นยังคงเป็น TIDLOR, MTC


กำลังโหลดความคิดเห็น