xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.59 โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ากลับมาอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.30-35.90 บาท/ดอลลาร์ และส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.75 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ก.พ.) ที่ระดับ 35.59 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 35.24 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงและโดยรวมอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 35.18-35.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ก่อนที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงเร็วและแรงจากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสที่เฟดจะรีบลดดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กดดันทั้งเงินบาทและราคาทองคำ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่ของปี

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมติดตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ การปรับปรุงอัตราเงินเฟ้อ CPI และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งหลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเร็วและแรงจากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. ที่อาจกดดันเงินบาทได้ หากมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมหากบรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในส่วนของบอนด์ระยะสั้น หากเงินบาทอ่อนค่าหนัก

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (น้อยกว่า 5-6 ครั้ง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมหากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง
กำลังโหลดความคิดเห็น