"ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่" เปิดแผนธุรกิจปี 67 ระบุพร้อมเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งรอบที่ 2 และ 3 รุกธุรกิจ Private PPA เดินหน้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เล็งทำ M&A โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และลุยสร้าง New S-Curve พร้อมเดินหน้าจับมือพันธมิตรรุกธุรกิจ Wellness เสริมสร้างรายได้เติบโต
ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2567 บริษัทมีความพร้อมสำหรับเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง รอบที่ 2 และรอบที่ 3 หลังจากในปีที่ผ่านมาบริษัทชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์ ซึ่งการประมูลรอบใหม่นี้ตั้งเป้าหมายจะได้งานราว 100 - 150 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD (Commercial Operation Date) ในปี 2568
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้ารุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนอาคาร และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผืนน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร และมีแผนจะทำ M&A (Mergers and Acquisitions) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเช่นที่บริษัทเคยทำมาอยู่แล้ว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต รวมถึงยังมีแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมจับมือพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำธุรกิจ Wellness ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อสร้าง New S-Curve และเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัท เริ่มตั้งแต่การเกิด การรักษา และการป้องกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกนี้ โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท
สำหรับงบลงทุนในปี 2567 บริษัทมีเงินทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน “โครงการโอนิโกเบ” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในประเทศญี่ปุ่น ในมูลค่า 13,915 ล้านเยน หรือคิดเป็น 3,434 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 1 เยน : 0.2468 บาท) และการใช้เงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับแผนงานแต่ละโครงการที่บริษัทได้รับ ทั้งนี้ หากต้องการเม็ดเงินลงทุนที่มากขึ้น บริษัทมีความมั่นใจในพันธมิตรกับสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุนการลงทุน เนื่องจากบริษัททำธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ปี 2567 เรามุ่งมั่นทำธุรกิจอย่างเต็มที่ทั้งด้าน Wellness รับกระแสการดูแลใส่ใจสุขภาพ เพื่อสร้าง New S-Curve ให้บริษัท รวมทั้งเรายังเตรียมทำ M&A โรงไฟฟ้าโซลาร์ และ JV ในงานโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน พร้อมเดินหน้าลุยธุรกิจ Private PPA และเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 2 และรอบที่ 3 เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตอย่าง มั่นคง ควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อ ESG อย่างที่สุด” ดร.แคทลีน กล่าว
ปัจจุบัน TSE มีกำลังการผลิตเสนอขายรวมกว่า 150 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่นับรวมกับโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tarif (FT) ปี 2565-2573 ที่บริษัทชนะประมูล รอบที่ 1 เป็นจำนวนรวม 88.66 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในไตรมาส 1 นี้