ธนาคารไทยเครดิตเผยนักลงทุนรายย่อยให้การตอบรับจองซื้อหุ้น IPO โดยนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศแสดงความต้องการจองซื้อในช่วงการทำ Bookbuilding เป็นจำนวนมาก พร้อมประกาศเคาะราคาขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ราคาหุ้นละ 29.00 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น เตรียมเปิดจองซื้อแก่นักลงทุนสถาบันในวันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ 67 และคาดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 9 ก.พ.นี้
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ของธนาคารไทยเครดิต สำหรับผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2567 โดยมีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก ให้ความเชื่อมั่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหุ้น IPO ธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาระดมทุนในรอบ 10 ปี พร้อมเดินหน้านำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ 1,876 ล้านบาท ใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
นายพัชระนนท์ ชีวเกรียงไกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จํากัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 28.00-29.00 บาทต่อหุ้น และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO ที่ราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายดังกล่าว พร้อมกับสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ในการจัดสรรหุ้น ได้จัดสรรให้นักลงทุนสถาบันประมาณ 87% และจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยประมาณ 13%
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ล่าสุด ได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ของธนาคารไทยเครดิตที่ราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น พร้อมดำเนินการเปิดจองซื้อสำหรับผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศ (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ) นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ลงทุนที่จองซื้อในต่างประเทศ (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ) ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors รวมจำนวน 6 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย หรือคิดเป็นประมาณ 55% ของจำนวนหุ้นที่ขายใน IPO ครั้งนี้
น.ส.นลิน วิริยะเสถียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวเสริมว่า ธนาคารไทยเครดิตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO โดยทางผู้ถือหุ้นเดิมมีความประสงค์ที่จะถือหุ้นบางส่วนต่อไป เนื่องจากทางผู้ถือหุ้นเดิมเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของธนาคารไทยเครดิตในอนาคต โดยคาดจะนำหุ้น CREDIT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดกลุ่มธุรกิจการเงิน/ธนาคาร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ และเชื่อมั่นว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน ชูจุดเด่น ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดในอุตสาหกรรม รวมถึงแผนการเติบโตสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนในระยะยาว
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร รวมไปถึง บริการเงินฝาก และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.3 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) เท่ากับ 18.0% 20.7% 18.9% และ 21.8% ตามลำดับ สำหรับปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 138,435.1 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้านแลกเงิน