หุ้นไทยยังมีความเสี่ยง ต่างชาติเทขายออกต่อเนื่อง เหตุเป็นช่วงก่อนที่เฟด จะปรับลดดอกเบี้ย ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง และไม่สร้างแรงจูงใจกระตุ้น แถมหากจีดีพีในปี 2566 เติบโตได้ไม่ถึง 2% อาจทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลดลง พร้อมคาดหากการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นในไตรมาส2 จะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นฝั่งเอเชียมากขึ้น
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 26 ม.ค.2567 ปิดที่ระดับ 1,368.15 จุด ลดลง 7.94 จุด หรือ 0.58% มูลค่าซื้อขาย 48,277.69 ล้านบาท โดยต่างชาติขายสุทธิ 2,766.02 ล้านบาท ทำให้ 1 ปีย้อนหลังนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมไปแล้ว 135,197 ล้านบาท สะท้อนถึงการเทขายออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะการเกิดแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าการปรับตัวสลดลงของดัชนีฯ น่าจะมาจาก นักลงทุนอาจเลือกขายลดความเสี่ยงออกมาก่อนที่รายงานเงินเฟ้อสหรัฐจะประกาศออกมา เพราะจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการรายงานผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่ค่อนข้างผิดคาด โดยลดลง 13% เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า ถือว่าต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้ 7% ส่วนใหญ่มาจากการตั้งสำรองหนี้สูงกว่าที่คาดกาณ์ไว้ จึงคาดการณ์ว่าน่าจะมีการดาวน์เกรดผลประกอบการปีนี้ลงอีก นั่นทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มเกิดข้อสงสัยว่าในปี 2567 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยได้จริงหรือไม่? หรือภาครัฐรวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ควรที่จะทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference กรุงเทพฯ มองว่าไทยยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) จากแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายทางการคลัง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลของภาครัฐ นอกจากนี้คาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะสูงขึ้นแตะ 1,700 ภายในสิ้นปีนี้
โดย นายมาร์โค สุจริตกุล เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทย J.P. Morgan แสดงความเห็นว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช่วยปรับปรุงการจ้างงานของภาคบริการ ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ หากโครงการ Digital Wallet มูลค่า 5 แสนล้านบาท รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาครัฐ ประสบความสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ทำให้มีเงินทุนหมุนในตลาดมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะเติบโตที่ 1.8-3.1% ซึ่งยังคาดหวังรัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมและมีการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน และเชื่อว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้ผ่านการลงทุนของภาครัฐ
โดยภาพรวมกำไรต่อหุ้น (EPS) ถูกปรับลดลงจาก 102 เหลือ 97 ประกอบตลาดหุ้นไทยยังขาดหุ้นเทคโนโลยีที่เป็น New S-curve ใหม่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการกลับเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีการขายสุทธิถึง 6 แสนล้านบาทและ 10 ปีมีการขายไปแล้ว 9 แสนล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันก็ยังขายสุทธิออกไปไม่หยุด อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ดัชนีฯไม่น่าจะปรับลดลงหลุด 1,300 จุด โดยมีแนวรับแรก 1,346 จุด แนวต้านปรับเป้าลงเหลือ 1,580 จุด จากเดิมกว่า 1,600
"ตลาดหุ้นไทยตอนนี้เหมือนคนป่วย สังเกตจากวันที่มีประเด็นข่าวการเมืองเรื่องคุณพิธา หุ้นไทยก็รีบาวน์ 20 จุดก่อนปรับตัวลงมา ซึ่งหากยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนชัดเจน หรือนโบายภาครัฐใหม่เข้ามาก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป "
พร้อมกับเชื่อว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2567 นี้ น่าจะดีกว่าปีก่อน หลังผ่านจุดสูงสุดของดอกเบี้ยสหรัฐและไทยมาแล้ว โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 3-4 ครั้งในปีนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดปรับลดลง 1 ครั้งในไตรมาส 3-4 นี้ และอาจลดลงมากกว่านี้หากเฟดลดดอกเบี้ยมากกว่าคาด นั่นทำให้กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ หากมีนักท่องเที่ยวกลับมา ส่วนความเสี่ยงต่อการลงทุนมองเป็นเรื่องของสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งหวังว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามไปมากกว่านี้
ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทยมีความเสี่ยงเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ตที่พยายามผลักดัน หากไม่เกิดก็จะมีทั้งข้อดีและไม่ดี ซึ่งข้อดีทำให้ไทยไม่ต้องเป็นหนี้เยอะ โอกาสถูกดาวน์เกรดก็ลดลง ส่วนข้อดีคือการกระตุ้นการบริโภคแต่อาจจะไม่ยั่งยืน และประเด็นศาลที่จะพิจารณาเรื่องยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ มองว่า ขึ้นกับอยู่ผลการตัดสิน แต่มองว่าปัจจุบันการเมืองมีเสถียรภาพพอสมควร จากการที่รัฐบาลเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา
สำหรับสถานการณ์หุ้นกู้ที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) นั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของตราสารหนี้ที่ออกทั้งหมด และส่วนใหญ่ที่ Default เป็นไฮยีลด์บอนด์
ด้าน นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส แสดงความเห็นว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นโลกขยับขึ้นได้ดี โดยเฉพาะหุ้นจีน จากที่รัฐบาลจีนได้มีการเข้ามาสนับสนุน ส่วนตลาดหุ้นไทย มีการรีบาวนด์กลับมา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัย การถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าไม่ถือเป็นความผิด กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ นักลงทุนกลับมาซื้อมากขึ้น จึงทำให้หุ้นไทยดูดีขึ้น แต่ยังคงต้องระวังเม็ดเงินลงทุน จากต่างชาติ (Fund Flow) ที่ยังไม่ได้ไหลกลับเข้ามา จากที่เทขาย 15 วันติด
โดยทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (29 ม.ค.-2 ก.พ.) คาดว่าดัชนีฯยังคงผันผวน ประเมินกรอบแนวรับที่ 1,350 จุด แนวต้าน 1,400 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ซึ่งตลาดยังคงคาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 5.5% รวมถึงการประชุมธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (บีโออี) ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ยระดับ 5.25%
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามศาลตัดสินคดีของพรรคก้าวไกล ว่าจะผิดมาตรา 112 หรือไม่
ทำให้กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำ หุ้นการท่องเที่ยว จากการที่จะมีการเซ็นสัญญาระหว่างไทย-จีน ที่มีโอกาสจะเปิดฟรีวีซ่าถาวร รวมถึงหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจจีนที่ปรับตัวลงลึก มีโอกาสที่จะฟ้นขึ้นได้
ทั้งนี้ มุมมองดังกล่าว สอดคล้องกับ "โจฮันน่า ฉัว" หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ระดับ 0.25% และคาดว่าตลอดปีจะลดดอกเบี้ยทั้งหมด 5 ครั้ง ที่ระดับ 1.25%
ส่วนธนาคารกลางในเอเชียจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐอเมริกาและเอเชียน้อยลง ส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเริ่มเห็นความต้องการสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีน ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคทยอยฟื้นตัว สำหรับ GDP ของประเทศจีนในปี 2567 จะเติบโตที่ 4.6% ขณะที่ GDP ประเทศอินเดียเติบโตที่ 7%
ด้าน "แอนโทนี่ หยวน" หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจพลังงาน ธนาคารซิตี้แบงก์ แสดงความเห็นว่าภาพรวมราคาสินค้า โภคภัณฑ์ในระยะสั้นมีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำมันดิบปี 2567 อยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากการที่เศรษฐกิจโลก ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงอุปทานน้ำมันของประเทศผู้ผลิตนอก OPEC สูง ตลอดจนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันอาจปรับเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงปี 2569 หากทวีปยุโรปและเอเชียไม่เผชิญปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ
ขณะที่ นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 3.6% จากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัว 3.3% จากปีก่อนหน้าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวราว 35.2 ล้านคน และเพิ่มเป็น 41 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องติดตามข้อสรุปของการอนุมัติร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะหากมาตรการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้งบที่ลดลงและมุ่งเน้นไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในระดับ 1-3% ของกรอบเป้าหมาย ที่ 1.7% ในปี 2567 โดยมีความเสี่ยงขาขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ผลของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรักษาดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% จนถึงปี 2568 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
สำหรับภาพรวมการลงทุนในประเทศไทย คาดว่าตลาดหุ้นไทยปี 2567 ได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมากขึ้น จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นฟู 80-90% เทียบกับช่วงก่อนCovid-19 โดยคาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ (SET Index) อยู่ที่ 1,527 จุด
โดยการลงทุนที่โดดเด่น ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ให้ผลตอบแทนสูง กลุ่มโรงพยาบาลและธุรกิจด้านการแพทย์ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจการบริโภคอุปโภค และโรงกลั่น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน
ขณะเดียวกันในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดลงได้ในปีนี้ 1 ครั้งและอาจปรับลดลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ในครึ่งปีหลังปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อไทยเริ่มปรับลดลงมา ถือว่าไม่ได้เป็นแรงกดดันมาจากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีที่มีการเรียกร้องว่าดอกเบี้ยปัจจุบันสูงเกินไป
โดยปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทย ยังมาจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ทำให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น และยังทำให้ช่วยภาคธุรกิจในไทยได้ด้วย อย่างไรก็ตามการที่ประเทศจีนมีปัญหา ทำให้ต่างชาติไม่นำเงินไปลงทุน ส่งผลดีต่อตลาดอาเซียนและไทยที่ต่างชาติเห็นโอกาสการลงทุนตลาดนี้เพิ่ม โดยอาเซียนและไทยมีความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นดีขึ้นเช่น นโยบายลดภาษีไวน์ ส่งผลดีทำให้
ทำให้กลุ่มหุ้นที่น่าลงทุนในตลาดหุ้นยังคงเป็นกลุ่มธนาคาร แม้ผลประกอบการล่าสุดออกมาไม่ดีนัก และกลุ่มเกี่ยวกับการบริโภค รวมถึงผูกกับภาคการท่องเที่ยว โดยยังต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่เดือน พ.ย.67 ว่าใครจะได้ จากปัจจุบันมีคะแนนเสียงว่านายโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมาครองตำแหน่งนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า แนวโน้มเงินลงทุนต่างชาติที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ มีโอกาสที่ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยได้อีก เนื่องจากช่วงก่อนที่เฟด จะปรับลดดอกเบี้ยนั้น อาจจะยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่สร้างแรงจูงใจที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทย
ขณะเดียวกัน หากมีความชัดเจนว่าจีดีพีของไทยในปี 66 เติบโตได้ไม่ถึง 2% อาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปรับตัวลดลงในปีนี้ด้วย จากปัจจุบันการเติบโตกำไรของบจ. อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ EPS เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับอดีต และ เพื่อนบ้านเป็นเหตุผลที่ทำให้ต่างชาติอาจจะขายหุ้นไทย
ดังนั้น ยังต้องติดตามรอดูในช่วงปลายไตรมาส 2 ปีนี้ หากเฟดลดดอกเบี้ยได้ในช่วงนั้น ยังเชื่อว่าน่าจะมีสัญญาณดีขึ้น และน่าจะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นฝั่งเอเชียได้มากขึ้น จึงมัการประเมินว่ามีโอกาสเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศปรับลดดอกเบี้ยลง คือ อัตราเงินเฟ้อที่แผ่วลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย ยังมีแรงกดดันทั้งจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องวงจะใช้วงเงินกู้ทั้งจำนวน 5 แสนล้านหรือน้อยกว่านั้น ส่งผลให้พันธบัตรระยะกลางและยาวยังผวาอยู่ ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2567 ตลาดหุ้นกู้ยังมีความเสี่ยงธุรกิจขาดสภาพคล่องชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ซึ่งเริ่มเห็นธุรกิจมีความเสี่ยงดังกล่าวยังคงกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน มองว่ายังต้องใช้เวลาอีกราว 6 เดือน หากธุรกิจสะท้อนสภาพคล่องได้ชัดเจน น่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้